"ไตรมาส 4 ปี 58 GDP จะโตได้มากหรือน้อยกว่า 2.9% นั้น คงต้องมารอการรายงานอย่างเป็นทางการในเดือนก.พ.นี้ แต่จากตัวเลขล่าสุดใน 2 เดือน(ต.ค.-พ.ย.58) ก็ยังได้ภาคการท่องเที่ยวเป็นพระเอก และถือว่าช่วยเศรษฐกิจมาทุกปี ขณะที่มาตรการช้อปช่วยชาติก็น่าจะมีส่วนช่วยเรื่องการใช้จ่ายได้ รวมถึงการซื้อรถยนต์ในช่วงปลายปีก่อนที่จะปรับขึ้นภาษี แต่ที่ไม่ค่อยดี คือเรื่องส่งออกที่ล่าสุดเดือนพ.ย.ติดลบไป 6% คงไปบังคับได้ยากเพราะขึ้นกับเศรษฐกิจโลก ต้องรอดูตัวเลขเดือนธ.ค.อีก 1 เดือน" เลขาธิการ สศช.กล่าว
สำหรับปัจจัยเสี่ยงสำคัญในปี 59 ประกอบด้วย 3 เรื่องสำคัญ คือ 1.เศรษฐกิจโลก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ประเมินว่าในปีนี้เศรษฐกิจโลกจะเติบโตได้ 3.6% ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตได้ 2.7% และเศรษฐกิจจีน เติบโต 6.7% ซึ่งหากสถานการณ์จริงไม่เป็นไปตามที่ IMF คาดการณ์ไว้ ก็จะถือว่าเศรษฐกิจโลกปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญปัจจัยหนึ่ง 2.ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ซึ่งหากแนวโน้มราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นในปีนี้ก็จะส่งผลดีต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และช่วยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจได้ และ 3.ปัญหาภัยแล้งและสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะมีผลต่อราคาสินค้าเกษตร
นายปรเมธี กล่าวด้วยว่า สำหรับในด้านการบริโภคและการใช้จ่ายของประชาชนนั้น เชื่อว่าในปีนี้ความมั่นใจของผู้บริโภคในการออกมาจับจ่ายใช้สอยจะมีมากขึ้น และน่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อที่จะกลับมาเป็นบวกได้ 1% จากที่ในปี 58 เงินเฟ้อติดลบ 0.9% พร้อมมองว่า สิ่งที่ต้องการเห็นในปีนี้คือการลงทุนกลับเข้ามามากขึ้น โดยมองว่าหัวใจสำคัญคือการลงทุนของภาครัฐเองที่จะเป็นตัวนำให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนตามมา
ด้านนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงเป้าหมายสำหรับการท่องเที่ยวในปี 2559 โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยในปีนี้ราว 32 ล้านคน คิดเป็นรายได้ 1.67 ล้านล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมรายได้ของทั้งนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศและในประเทศเองแล้วคาดว่าจะอยู่ที่ 2.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากในปี 2558 ที่มีรายได้รวมจากการท่องเที่ยว 2.2 ล้านล้านบาท ขณะที่ในปี 2560 ได้ตั้งเป้ารายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 ล้านล้านบาท
รมว.ท่องเที่ยวฯ กล่าวว่า เป้าหมายด้านการท่องเที่ยวตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้คือ 1.สร้างการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน เน้นคุณภาพเป็นหลัก และยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 2.เป็นการกระจายรายได้ และลดความเหลื่อมล้ำ และ 3.ปลูกจิตสำนึกรักบ้านเกิด สร้างความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนเองให้ดูแลรักษาภูมิลำเนา ตลอดจนรักและเข้าใจประเทศไทย
"เป้าหมายของเราคือจะเน้นเรื่องคุณภาพเป็นหลัก จะเพิ่มรายได้ต่อหัวจากนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น โดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น แต่จะไม่เน้นการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว" รมว.ท่องเที่ยวฯ ระบุ
ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ราว 3.0-3.5% ขณะที่การส่งออกจะขยายตัวได้ 2% ซึ่งกลับมาเป็นบวกได้จากที่ในปี 58 คาดว่าจะติดลบราว 5% โดยมองว่าสถานการณ์ที่เงินบาทอ่อนค่าจะมีส่วนช่วยให้สินค้าของไทยยังสามารถแข่งขันได้เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง ขณะเดียวกันยังมีส่วนช่วยจูงใจในด้านการท่องเที่ยว เพราะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายและการซื้อสินค้าที่ถูกกว่าประเทศคู่แข่ง
ประธาน ส.อ.ท. แสดงความเห็นพ้องกับแนวคิดของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ประเทศไทยมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับภาคเกษตรให้มากขึ้น เช่น การลงทุนในเรื่องของแหล่งน้ำ ฝาย การจัดสร้างโรงงานแปรรูปสินค้าการเกษตรขนาดเล็กในชุมชน เป็นต้น ซึ่งเป็นการเพิ่มเติมจากในส่วนของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่ปัจจุบันภาครัฐได้ดำเนินการอยู่แล้ว ทั้งนี้เพื่อให้ภาคเกษตรกรรมมีการพัฒนาที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะภาคเกษตรกรรมก็มีความเชื่อมโยงที่สำคัญกับภาคอุตสาหกรรม นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บมจ.สหพัฒนพิบูลย์(SPC) แสดงความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และทีมเศรษฐกิจภายใต้การนำของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี โดยเห็นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่รัฐบาลได้ทยอยประกาศใช้นั้นจะส่งผลดีต่อทุกภาคส่วน และสามารถเพิ่มอำนาจการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนให้มากขึ้นได้ โดยมองว่าตั้งแต่นายสมคิด เข้ามาดูแลงานด้านเศรษฐกิจ ก็มีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนมากขึ้น ซึ่งดูได้จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เริ่มกลับมาดีขึ้น
"กำลังซื้อไม่ได้ขึ้นกับเงินในกระเป๋าอย่างเดียว แต่ขึ้นกับอารมณ์และความเชื่อมั่นในอนาคตด้วยถึงจะออกไปจับจ่ายใช้สอยกัน...กรณีช้อปช่วยชาติ ถือว่าเป็นมาตรการที่ดีที่ช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย แต่น่าจะเพิ่มระยะเวลาให้นานกว่านี้ และมีการสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนล่วงหน้ามากกว่านี้ แนะนำว่าน่าจะทำไตรมาสละครั้ง" นายบุญชัย กล่าว
อย่างไรก็ดี คาดว่าในปีนี้ยอดขายของสหพัฒน์ฯ จะเติบโตได้ราว 10% เพิ่มขึ้นจากในปี 58 ที่เติบโตได้ 7.4%
พร้อมกันนี้ ยังแนะรัฐบาลว่าจากมาตรการและความช่วยเหลือผ่านการใช้จ่ายงบประมาณไปยังแต่ละภาคส่วนนั้น รัฐบาลควรจะมีการจัดตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นเพื่อทำหน้าที่ติดตามผลจากการใช้จ่ายเงินงบประมาณในแต่ละมาตรการว่ามีความคืบหน้ามากน้อยเพียงใด และมีประสิทธิผลอย่างไร ซึ่งอาจจะมอบหมายให้ผู้ว่าราชการของแต่ละจังหวัดรับผิดชอบในส่วนนี้
"น่าจะต้องมีหน่วยงานพิเศษเข้ามาติดตามดูแลผลการใช้เงินว่าไปถึงไหน อาจจะเป็นผู้ว่าฯ ก็ได้ ไม่ใช่แค่ส่งเงินไปแล้วก็ปล่อยไปตามยถากรรม ควรจะต้องติดตามด้วย เพราะถ้าเงินที่ส่งไปนั้นเกิดผลเป็นรูปธรรมก็เชื่อว่าปี 59 จะต้องดีกว่าปี 58 แน่นอน" นายบุญชัย กล่าว