อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์กำลังจับตาอย่างใกล้ชิดสินค้ากลุ่มที่ใช้ในชีวิตประจำวัน สินค้าเกษตร และอาหารสำเร็จรูป เพราะมีผลกระทบต่อค่าครองชีพในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว
"ตอนนี้ มีหลายเสียงบ่นมากว่าราคาอาหารปรุงสำเร็จแพง ทั้งที่ราคาวัตถุดิบส่วนมากทรงตัว และลดลง แต่เมื่อนำมาปรุงเป็นอาหารสำเร็จกลับมีราคาแพง เพราะมีต้นทุนอื่นด้วย เช่น ค่าแรง ค่าเช่าที่ ค่าขนส่ง จึงต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะคนสมัยใหม่นิยมบริโภคอาหารปรุงสำเร็จ แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นต้องประกาศกำหนดราคาควบคุม เพียงแค่เพิ่มทางเลือกในการบริโภค" รมว.พาณิชย์ กล่าว
พร้อมระบุว่า ในปีนี้จะขยายร้านอาหารหนูณิชย์ ที่จำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จจาน/ชามละ 25-35 บาท ให้กระจายไปทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายที่ 10,000 แห่ง จากปัจจุบันมีอยู่ 3,924 ร้าน ซึ่งในจำนวนนี้อยู่ในกรุงเทพฯ 1,200 ร้าน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย
รมว.พาณิชย์ กล่าวด้วยว่า จะหารือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อขอความร่วมมือในการกระจายร้านหนูณิชย์ หรือร้านอาหารธงฟ้าเข้าไปในโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งจะหารือกับผู้ประกอบการจัดหาวัตถุดิบราคาถูก เพื่อช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบในการประกอบอาหารให้กับร้านอาหารในโครงการ และหารือกับห้างค้าปลีก และห้างสรรพสินค้า จัดหามุมสำหรับการขายอาหารปรุงสำเร็จราคาถูกภายในห้างด้วย เพราะจะใช้วิธีให้ห้างลดค่าเช่าพื้นที่ให้กับผู้ค้าอาหารในฟู้ดคอร์ทคงทำได้ยาก
นอกจากนั้น ในปีนี้ยังมีแผนที่จะขยายตลาดชุมชนเพิ่มขึ้นอีก 200 แห่งทั่วประเทศ จากปัจจุบันมีอยู่ 20 แห่ง และจะเพิ่มสินค้าในกลุ่มสินค้าเกษตรอินทรีย์เข้ามาด้วย เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการ เกษตรกรได้มีโอกาสพบปะผู้บริโภคโดยตรง และเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรโดยตรง
สำหรับแนวโน้มราคาสินค้าในปี 59 ในส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคส่วนใหญ่ คาดว่าราคาทรงตัวหรือลดลงตามราคาวัตถุดิบและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงฟื้นตัว ปริมาณความต้องการใช้สินค้ายังไม่เพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันผู้ผลิตมีการผลิตสินค้าได้ประมาณ 60% ของความสามารถในการผลิตทั้งหมด ทำให้ต้องการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการแข่งขันด้านราคาเพิ่มมากขึ้น ส่วนราคาสินค้าเกษตร คาดว่าจะลดลงตามราคาตลาดโลก เช่น ข้าว ปาล์มน้ำมัน