โดยเบื้องต้น การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ได้เสนอ 2 แนวทางแก้ปัญหา คือ 1. ก่อสร้างรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ส่วนต่อขยายช่วงจากพญาไท-บางซื่อ โดยยกเลิกช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง โดยให้ใช้รถไฟสายสีแดงรองรับการเดินทางแทน ซึ่งที่ประชุมมีข้อสังเกตว่า หากยกเลิกการก่อสร้างแอร์พอร์ตลิงก์ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง จะทำให้ผู้โดยสารต้องเปลี่ยนรถที่บางซื่อเพื่อเดินทางต่อไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ และจะเป็นการเปลี่ยนแนวคิดของโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ที่ต้องการเชื่อมการเดินของสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง 2. รถไฟไทย-จีน และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ส่วนต่อขยายช่วงจากพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง ใช้ทางร่วมกัน ดังนั้น ร.ฟ.ท.ไปพิจารณาวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติม โดยจะพิจารณาแนวทางที่เกิดประโยชน์สูงสุด
นอกจากนี้ ร.ฟ.ท.ได้เสนอแนวคิด ในการขยายเส้นทางรถไฟสายสีแดงต่อขยายช่วง รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์-อยุธยา ต่อไปถึง สถานีชุมทางบ้านภาชี ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาถึงประเด็นความซ้ำซ้อน แม้ว่ารถไฟสายสีแดง จะเป็นรถไฟฟ้าชานเมือง หรือ Commuter Train มีเป้าหมายเพื่อขนส่งผู้โดยสารที่อยู่ชานเมืองและเมืองบริวารเข้าเมือง ซึ่งแม้จะเป็นผู้โดยสารคนละกลุ่มกับ รถไฟไทย-จีน และรถไฟไทย-ญี่ปุ่น แต่เมื่อมีแนวเส้นทางเดียวกัน อาจจะมีผลต่อจำนวนผู้โดยสารได้ จึงต้องพิจารณาความคุ้มค่าในการลงทุน เนื่องจาก ก่อสร้างเป็นทางยกระดับมีต้นทุนสูง จึงเห็นว่า สายสีแดงควรสิ้นสุดที่อยุธยาตามแผนเดิม และจุดจอดแล้วจร (Park and Ride) โดยให้ร.ฟ.ท.ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติม และเสนอมาพิจารณาภายใน 3 เดือนเพื่อสรุปและบรรจุโครงการที่ชัดเจนในแผนแม่บทระบบรางของประเทศ