"การเบิกจ่ายงบประมาณที่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แสดงถึงความพยายามเร่งรัดการเบิกจ่ายของภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจให้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง" ผู้อำนวยการ สศค. กล่าว
ทั้งนี้ เฉพาะเดือนพฤศจิกายน 2558 รัฐบาลขาดดุลเงินสดจำนวน 58,527 ล้านบาท โดยเป็นการขาดดุลเงินงบประมาณ 54,155 ล้านบาท และเป็นการขาดดุลนอกงบประมาณ 4,372 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2558 มีจำนวน 346,428 ล้านบาท
โดยรัฐบาลมีรายได้นำส่งคลัง 178,773 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 34,558 ล้านบาท (คิดเป็น 24.0%) ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิตน้ำมัน และภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จัดเก็บได้สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว
ทั้งนี้ รัฐบาลมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น 232,928 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 27,170 ล้านบาท (คิดเป็น 13.2%) ประกอบด้วย รายจ่ายประจำ 197,487 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 14.9% และรายจ่ายลงทุน 11,479 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 31.0% และการเบิกจ่ายเงินจากงบประมาณปีก่อนจำนวน 23,962 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 4.5%
สำหรับการเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่สำคัญในเดือนนี้ ได้แก่ เงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น 63,288 ล้านบาท เงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ 14,452 ล้านบาท และรายจ่ายชำระหนี้ของกระทรวงการคลัง 6,065 ล้านบาท
ส่วนดุลการคลังรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด จากรายได้นำส่งคลังและการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาลข้างต้น ส่งผลให้ดุลเงินงบประมาณในเดือนพฤศจิกายน 2558 ขาดดุล 54,155 ล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุล 4,372 ล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการเบิกจ่ายเงินจัดสรรให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(อปท.) สุทธิ 8,271 ล้านบาท เบิกจ่ายเงินคงคลังอื่นๆ สุทธิ 8,287 ล้านบาท ขณะที่มีรายรับจากเงินฝากคลังของเงินกู้โครงการต่างๆ สุทธิ 10,427 ล้านบาท การประมูลตั๋วเงินคลังสุทธิ 1,993 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดจำนวน 58,527 ล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 109,075 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด (หลังกู้ชดเชยการขาดดุล) เกินดุลเท่ากับ 50,548 ล้านบาท