วันนี้ทั้งวันเงินบาทแกว่งอยู่ในกรอบแคบ จากที่ปรับตัวอ่อนค่าลงค่อนข้างมากจากเมื่อวานนี้ เนื่องจากความกังวลที่เงินเฟ้อเบื้องต้นของยูโรโซนในเดือนธ.ค.ปรับตัวต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ รวมทั้งเจ้าหน้าที่เฟดหลายรายประเมินว่าอาจจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้งในปี 2559 จึงส่งผลให้ดอลลาร์ปรับแข็งค่าขึ้น
นักบริหารเงิน คาดว่า พรุ่งนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 36.20-36.30 บาท/ดอลลาร์
- ปัจจัยสำคัญ
- ช่วงเย็นนี้ เงินเยนอยู่ที่ระดับ 118.48/51 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 118.53/58 เยน/ดอลลาร์
- ส่วนเงินยูโรช่วงเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 1.0736/0739 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.0761/0765 ดอลลาร์/ยูโร
- ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,260.04 เพิ่มขึ้น 6.70 จุด (+0.53%) โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 45,261 ล้านบาท
- สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 1,803.62 ลบ.(SET+MAI)
- คืนนี้ สหรัฐฯ จะมีการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศเดือนพ.ย., ตัวเลขการจ้างงานเดือนธ.ค., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) ภาคบริการเดือน ธ.ค. และคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐ(FOMC) จะเปิดเผยรายงานการประชุมของวันที่ 15-16 ธ.ค.ที่ผ่านมา
- นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ "แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2559" ในงานสัมมนาใหญ่ "เศรษฐกิจไทยปี 59 มองไปข้างหน้า โอกาสและความท้าทาย"ว่า ในปีที่ผ่านมาโมเมนตั้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับที่น่าพอใจ เพราะสามารถหยุดยั้งการทรุดตัวของเศรษฐกิจได้ และเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปี 58 จะขยายตัวได้ 2.9-3% ขณะที่ในปีนี้ และสำหรับภารกิจในปีนี้ รัฐบาลจะเดินหน้าขับเคลื่อนเครื่องยนต์เศรษฐกิจทุกตัว ทั้งด้านการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนภาครัฐ เป็นต้น
- นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ จะขยายตัวได้ราว 3-4% ซึ่งจะเป็นการเติบโตที่ดีขึ้นกว่าปี 58 โดยปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ประกอบด้วย 3 เรื่องสำคัญ คือ 1.เศรษฐกิจโลก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ประเมินว่าในปีนี้เศรษฐกิจโลกจะเติบโตได้ 3.6% ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตได้ 2.7% และเศรษฐกิจจีน เติบโต 6.7% ซึ่งหากสถานการณ์จริงไม่เป็นไปตามที่ IMF คาดการณ์ไว้ ก็จะถือว่าเศรษฐกิจโลกปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญปัจจัยหนึ่ง 2.ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ซึ่งหากแนวโน้มราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นในปีนี้ก็จะส่งผลดีต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และช่วยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจได้ และ 3.ปัญหาภัยแล้งและสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะมีผลต่อราคาสินค้าเกษตร
- นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยถึงฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 (ต.ค.-พ.ย.58) ว่า รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 355,757 ล้านบาท ในขณะที่การเบิกจ่ายเงินงบประมาณมีจำนวนทั้งสิ้น 607,129 ล้านบาท รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 208,169 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 346,428 ล้านบาท
- ผลสำรวจของมาร์กิตระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของยูโรโซนในเดือนธ.ค.ทรงตัวที่ระดับ 54.2 จากเดือนพ.ย. แต่ปรับตัวขึ้นจากดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้นเดือนธ.ค.ที่ 53.9 ทั้งนี้ ภาคบริการของยูโรโซนยังคงขยายตัวแข็งแกร่งในเดือนธ.ค. โดยขยายตัวเทียบเท่ากับดัชนีในเดือนพ.ย. ซึ่งสูงสุดในรอบ 3 เดือน ขณะที่ยอดการผลิตใหม่และมุมมองบวกทางธุรกิจปรับตัวดีขึ้น ส่วนการจ้างงานใหม่ขยายตัวสูงสุดในรอบกว่า 5 ปี
- แบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์ คาดการณ์ว่า ตลาดหุ้นจีนมีแนวโน้มซบเซาลงอย่างต่อเนื่องในปี 2559 โดยคาดว่าดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตจะร่วงลงราว 27% ณ สิ้นปี 2559 โดยะแตะที่ประมาณ 2,600 จุด พร้อมระบุว่า จีนมีแนวโน้มที่จะเผชิญปัญหาด้านการเงิน รวมทั้งการปรับตัวลงของค่าเงิน และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น อันเนื่องมาจากหนี้สินที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว