ส่วนบริษัท สินไชยศรี ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโรงสีข้าว และผลิตไฟฟ้าชีวมวล ยังไม่พร้อมในเรื่องการเตรียมเอกสารทำสัญญาให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 8 ม.ค.นี้ แต่บริษัทต้องการจะลงนามตามกำหนด แต่ต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง หากไม่มาทำสัญญา จะถูกริบหลักประกันสัญญา
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การดำเนินงานทั้งหมดจะเป็นไปอย่างโปร่งใส พร้อมขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า ข้าวที่ขายไปจะนำไปสู่ภาคอุตสาหกรรม ไม่ไหลเข้าสู่ระบบการค้าปกติอย่างแน่นอน
ด้าน พ.อ.(พิเศษ) ดิเรก ดีประเสริฐ รองประธานบอร์ด อคส.กล่าวว่า กรณีมีการตั้งข้อสังเกตจากหลายฝ่ายว่าทั้ง 2 บริษัทไม่มีความพร้อมในการนำข้าวไปใช้ในอุตสาหกรรมปุ๋ยและไฟฟ้าแต่กลับเข้าร่วมประมูลข้าวเสื่อม ซึ่งอาจนำไปบรรจุถุงจำหน่ายเพื่อการบริโภคนั้น ไม่ได้ตัดทิ้งประเด็นนี้ แต่ต้องให้ความเป็นธรรมผู้ประกอบการด้วย เพราะยังไม่ได้มีพฤติกรรมเหล่านั้น หรืออาจคิดว่า อคส.ไม่เข้มงวด และจริงจังในการตรวจสอบคุณสมบัติ และความพร้อมของผู้ชนะการประมูล ซึ่งยืนยันว่า หากเอกชนไม่มีความพร้อมก็ต้องยกเลิกการประมูลไป และให้กรมการค้าต่างประเทศเปิดประมูลใหม่
ขณะที่ น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เงื่อนไขการประมูลข้าวเสื่อม กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดและชี้แจงให้กับผู้ที่สนใจอย่างชัดเจนแล้วว่า ต้องนำข้าวไปใช้ตามเงื่อนไขและต้องยอมรับทุกเงื่อนไขที่กรมการค้าต่างประเทศกำหนด เช่น ต้องอนุญาตให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบกระบวนการผลิตได้ตลอดเวลา ต้องพร้อมนำข้าวไปผลิตตามเงื่อนไขสัญญา โดยไม่นำไปสู่อุตสาหกรรมข้าวเพื่อการบริโภคและอาหารสัตว์ หากพบว่าไม่สามารถลงนามทำสัญญาได้ต้องถูกริบเงินค้ำประกัน และถูกขึ้นบัญชีดำ และจะนำข้าวมาเปิดประมูลอีกรอบ
"ก่อนการประมูล กรมการค้าต่างประเทศเปิดชี้แจงรายละเอียดชัดเจนแล้ว ใครจะเข้าร่วมประมูล ต้องทำตามเงื่อนไขทุกอย่าง เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าวเสื่อมหลุดรอดเข้าไปสู่ข้าวเพื่อการบริโภค เพราะข้าวเสื่อมที่ขายเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม แม้จะมีข้าวดีผสมบ้างเล็กน้อย แต่ไม่สามารถนำไปบริโภคได้อีกแล้ว ดังนั้นผู้ชนะการประมูลต้องมาทำสัญญาภายใน 15 วันนับจากวันทราบผลประมูล จะมาขอเลื่อนคงไม่ได้ เพราะไม่อยากให้ใครมาต่อว่ากระทรวงพาณิชย์ได้ว่าอาจมีนอกมีในกัน" น.ส.ชุติมา กล่าว