นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า การเบิกจ่ายเงินงบประมาณประจำปี 2559 ในไตรมาสแรก(ต.ค.-ธ.ค.58) ในภาพรวมสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 807,669 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 2,720,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 29.7 แบ่งเป็น รายจ่ายประจำเบิกจ่ายแล้ว 739,608 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 2,175,646 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 34 และรายจ่ายลงทุน(ไม่รวมงบกลาง) เบิกจ่ายแล้ว 67,977 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 457,096 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 14.9
"การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของภาครัฐในภาพรวมเบิกจ่ายได้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากหน่วยงานราชการได้เตรียมพร้อมเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างไว้แล้ว ทำให้เบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล" นายมนัส กล่าว
ขณะที่ผลการเบิกจ่ายงบประมาณที่กันไว้เบิกเหลื่อมปีของปีงบประมาณ 2551-2558 เบิกจ่ายได้แล้ว 83,253 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 305,282 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 27.3 โดยมียอดเงินคงเหลือ 222,029 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินกันฯ กรณีมีหนี้ผูกพัน 122,427 ล้านบาท และเงินกันฯ กรณีไม่มีหนี้ผูกพัน 99,602 ล้านบาท
สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุน(ไม่รวมงบกลาง) ปีงบประมาณ 2559 แบ่งเป็น รายการที่มีวงเงินไม่เกิน 2 ล้านบาท ลงนามในสัญญาแล้ว 16,032 ล้านบาท เบิกจ่ายได้ 9,388 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 33,592 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 27.9 รายการที่มีวงเงิน 2-500 ล้านบาท ลงนามในสัญญาแล้ว 146,535 ล้านบาท เบิกจ่ายได้ 39,964 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 352,791 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 11.3 และรายการที่มีวงเงินตั้งแต่ 500 ล้านบาท ขึ้นไป ลงนามในสัญญาแล้ว 24,090 ล้านบาท เบิกจ่ายได้ 18,625 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 70,713 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 26.3
ส่วนผลการเบิกจ่ายงบอบรมและประชุมสัมมนาประจำปี 2559 ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2558 เบิกจ่ายได้ 1,552 ล้านบาท ของวงเงินรวม 6,844 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 22.7
ทั้งนี้ภาพรวมด้านงบประมาณตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลปีงบประมาณ 2559 ไตรมาสแรก ประกอบด้วย 1.มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล(ตำบลละ 5 ล้านบาท) วงเงินรวม 36,462 ล้านบาท ลงนามในสัญญาแล้ว 4,822 ล้านบาท เบิกจ่ายได้ 362 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1
2.มาตรการสำคัญเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจนในการเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน วงเงินรวม 3,194 ล้านบาท ลงนามในสัญญาแล้ว 1,358 ล้านบาท เบิกจ่ายได้ 659 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 20.6
3.โครงการช่วยเหลือเกษตรและคนยากจนโดยสนับสนุนการจัดหาเครื่องจักรกลการเกษตรให้แก่กลุ่มสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร วงเงินรวม 254 ล้านบาท ลงนามในสัญญาแล้ว 61 ล้านบาท เบิกจ่ายได้ 37 ล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 14.7
และ 4.มาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ วงเงินรวม 40,918 ล้านบาท ลงนาม ในสัญญาแล้ว 26,651 ล้านบาท เบิกจ่ายได้ 23,987 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 58.6
"ที่ผ่านมากรมบัญชีกลางได้ดำเนินการหลายประการ ทั้งลดขั้นตอนและผ่อนคลายการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐลงพื้นที่เพื่อติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายเงิน สอบถามปัญหาอุปสรรค ให้คำปรึกษาในเรื่องต่างๆ เพื่อให้หน่วยงานราชการเบิกจ่ายเงินได้ตามเป้าหมายของรัฐบาล และพร้อมจะสนับสนุนโครงการตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลต่อไป" นายมนัส กล่าว