ก.เกษตรฯ สั่งศึกษาตรึงราคายางไว้ในช่วง 33-34 บ./กก.-เตรียมตั้งคกก.กนย.แก้ปัญหา

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 8, 2016 17:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ที่ราคายางลดต่ำลง เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจโดยรวมในประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดหลักในการนำเข้ายางรายใหญ่ของโลกชะลอตัว รวมทั้งการสนับสนุนการใช้ยางพาราในการทำถนนมีสัดส่วนนำไปใช้ได้เพียง 5% เท่านั้น จากสถานการณ์ดังกล่าว กระทรวงเกษตรฯ ได้วางแผนแก้ไขปัญหาด้านยางพารา 2 ลักษณะพร้อมๆกัน คือ 1) การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ใช้ยางพาราในการทำถนนโดยผ่านกระทรวงคมนาคม จำนวน 20,000 ตัน และให้อบต./อบจ. ใช้ยางพาราในการสร้างสนามฟุตซอล ปูพื้นสนามกีฬา เป็นต้น

รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า รัฐบาลกำลังดำเนินการทั้งการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อหยุดยั้งไม่ให้ราคายางไหลลงต่ำกว่า 33-34 บาท/กก.(สำหรับยางแผ่นดิบ) และการแก้ปัญหาที่จะทำให้เกิดความยั่งยืน

"เบื้องต้นวันที่ 10 ม.ค.จะมอบหมายให้ท่านจินตนา ชัยยะวรรณาการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับท่านอำนวย ปะติเส ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช พูดคุยกับเกษตรกรเพื่อให้รับรู้ปัญหาจริงๆ และวันที่ 11 ม.ค.เราจะประชุมคณะกรรมการเพื่อพัฒนายางพารา ประกอบด้วย ผู้แทนส่วนราชการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางที่มีบทบาทในภาคเกษตรกรชาวสวนยางทั้งระบบมาร่วมประชุมเพื่อหาทางไม่ให้ราคายางไหลลงไปอีก และหาทางเดินหน้าเพื่อสร้างความยั่งยืน" พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลและคณะรัฐมนตรีได้มีการช่วยเหลือมาโดยตลอด ทั้งการจ่ายเงินชดเชยไร่ละ 1,000 บาทไม่เกิน 15 ไร่เมื่อตอนปลายปี 57 พอมาต้นปี ถึงกลางปี 58 ก็มีการสนับสนุนปัจจัยกาผลิตไร่ละ 2,520 บาทไม่เกิน 15 ไร่ และขณะนี้ก็พยายามสร้างความเข้มแข็งและสวัสดิการให้แก่ทั้งเจ้าของสวนและคนกรีดยาง 1,500 บาท/ไร่ ไม่เกิน 15 ไร่ ซึ่งกำลังเร่งรัดการจ่ายเงินให้เกษตรกรให้แล้วเสร็จภายในม.ค.-ก.พ.นี้

ส่วนอีกแนวทาง คือ 2) การแก้ปัญหายางพาราเพื่อให้เกิดความอย่างยั่งยืนในอนาคต รัฐบาลได้อนุมัติเงินจำนวน 10,000 ล้านบาท สำหรับโครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรประกอบอาชีพเสริมในสวนยาง ช่วยให้มีรายได้เพิ่มเติมนอกเหนือจากการทำสวนยางพาราเพียงอย่างเดียว ซึ่งในขณะนี้มีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ 159,270 ราย ได้รับอนุมัติเงินสนับสนุนในการประกอบอาชีพเสริมจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แล้ว 96,563 ราย และเมื่อ 8 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา ขอขยายวงเงินเพิ่มและได้รับงบประมาณเพิ่มอีก 5,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 15,000 ล้านบาท ขณะนี้เหลือเงินประมาณ 2,861 ล้านบาท ทั้งนี้ จะมีการขยายระยะเวลารับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มเติม ตั้งแต่ 15 ม.ค.59 เป็นต้นไป

“จากการติดตามผลการดำเนินโครงการปรากฏว่า ร้อยละ 61 ของเกษตรกรมีความสนใจประกอบอาชีพเสริมด้านปศุสัตว์/ร้อยละ 13 ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้ประดับ/ร้อยละ 10 ปลูกพืชไร่/ร้อยละ 9 ทำประมง และอื่นๆ อีกร้อยละ 7 ได้แก่การแปรรูปสินค้าเกษตร เป็นต้น ซึ่งเมื่อปลายปี 2558 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความสำเร็จของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีแล้ว ส่วนการขับเคลื่อนคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ที่ผ่านมาได้ใช้เวลาในการตรวจสอบคุณสมบัติของคกก.ค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามจะเร่งรัดให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้า เพื่อเสนอเข้าครม.ภายในวันอังคารหน้า (12 ม.ค.)” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

ด้านนางจินตนา ชัยยวรรณาการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงผลการประชุมคณะกรรมการดำเนินการแก้ไขปัญหาสินค้ายางพาราอย่างเป็นระบบครบวงจรว่า ได้เชิญทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เกษตรกร และผู้ประกอบการ ร่วมแก้ไขราคายางพาราให้หยุดการลดต่ำลง ซึ่งจากการคาดการณ์ปริมาณผลผลิตยางพาราในช่วง 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ม.ค. – มี.ค. 59 คาดว่าจะมีปริมาณยางพาราประมาณวันละ 9,000 ตัน จึงได้ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการรับซื้อยางพาราในปริมาณสัดส่วนที่เคยรับซื้อจากอดีต และรับซื้อในราคาที่เหมาะสม โดยจะรับซื้อยางแผ่นดิบในราคาไม่ต่ำกว่า 33.50 บาท/กก. และน้ำยางสดในราคา 28.50 บาท/กก.

"ถ้าถึงวันพุธหน้าแล้วไม่สามารถพยุงราคาไว้ได้ก็จำเป็นจะต้องใช้เรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 3 ฉบับมาใช้ คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยเรื่องราคาสินค้าของกรมการค้าภายใน, พ.ร.บ.ควบคุมยาง ฉบับปี 2542 และ พ.ร.ก..นำเข้าส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ แต่ถ้าทิศทางราคากลับมาดีเราก็จะใช้วิธีการบริหารจัดการโดยเอาเรื่องของการตลาดมาช่วยกัน

นอกจากนี้ผู้ผลิตทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ได้ตกลงกันว่าจะให้กรมการค้าภายในไปดูแลว่าหากระดับราคาที่กลางน้ำซื้อจากต้นน้ำสูงขึ้น ราคาที่ปลายน้ำจะซื้อจากกลางน้ำก็ต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทุกคนทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมในการบริหาร Supply Chain" นางจินตนา กล่าว

ขณะที่นายอำนวย ปะติเส ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กลไกสำหรับการดำเนินงานในปี 2559 โดยมีพ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทยเป็นหลักในการดำเนินงาน ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว จากนี้จากบทเฉพาะกาลจะเข้าสู่บทถาวร โดยจะมีบอร์ดจากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมบริหารงาน ได้แก่ ตัวแทนเกษตรกร 5 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นต้น รวม 15 คน ซึ่งจะมีการแต่งตั้งประธานบอร์ดและเริ่มขับเคลื่อนการทำงานได้ทันที ทั้งนี้ ในกฎหมายกำหนดให้มีกองทุนพัฒนายางพารา (กองทุนระยะยาว) มีเงินหมุนเวียนซึ่งได้จากการเก็บเงินเซส ประมาณ 5,000 - 7,000 ล้านบาท/ปี เพื่อใช้สำหรับวัตถุประสงค์ 6 ด้าน ได้แก่ 1) การบริหารงาน 2) สงเคราะห์เกษตรกรปลูกยางทดแทน 3) การใช้ยางภายในประเทศ 4) สนับสนุนองค์กรเกษตรกรให้เข้มแข็ง 5) สวัสดิการเกษตรกร 6) การวิจัยและพัฒนายางพารา ทั้งนี้ครม.ได้เห็นชอบระเบียบหลักแล้ว ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นโดยตรงแก่เกษตรกรนอกจากเงินสวัสดิการที่จะได้รับ 7 % เปิดโอกาสให้องค์กรเกษตรกรและภาครัฐมีส่วนร่วมในการบริหารสวัสดิการร่วมกัน รวมทั้งการพัฒนาองค์กร สร้างความเข้มแข็งต่อระบบบริหารงานต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ