ปรากฏว่าโครงการดังกล่าว (ระยะแรก) ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง หลังจากที่สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการรวม 19 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการได้รับแจ้งความประสงค์จากลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งมีความต้องการวงเงินกู้นี้จำนวนมาก ทำให้ปล่อยกู้เต็มวงเงิน 1 แสนล้านบาท ไปเมื่อวันที่ 26 พ.ย.58 โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการไปรวมจำนวนทั้งสิ้น 11,750 ราย ทั้งนี้คาดว่าธนาคารออมสินจะทยอยเบิกจ่ายซอฟท์โลนที่ยังค้างอยู่อีก 2-3 หมื่นล้านบาท ในรอบแรกได้ครบภายในกลางเดือนม.ค.นี้
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเห็นว่า ยังมีผู้ประกอบการอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการ และได้แจ้งความประสงค์อยากให้รัฐบาลเพิ่มเติมวงเงินกู้รูปแบบนี้อีก รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้ธนาคารออมสิน เร่งดำเนินปล่อยเงินกู้โครงการระยะที่ 2 หลังจากคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.58 เป็นที่เรียบร้อย
อนึ่ง วันนี้ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง "โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs" ระหว่างธนาคารออมสิน สถาบันการเงินของรัฐ และธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งหมด 20 แห่ง
นายชาติชาย กล่าวว่า สำหรับโครงการระยะที่ 2 นี้ มีวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท มีเงื่อนไขที่แตกต่างจากโครงการระยะแรก เพียงแค่เงื่อนไขเดียว คือ จำกัดวงเงินสินเชื่อต่อรายไว้ไม่เกิน 10 ล้านบาท (โครงการแรกกำหนดไว้ไม่เกิน 50 ล้านบาท) ส่วนอัตราดอกเบี้ย เงื่อนไขอื่นๆ เหมือนโครงการระยะแรก โดยคาดว่าจะมีผู้ประกอบการเข้าโครงการนี้ได้ประมาณ 5,000 ราย และจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้หมดภายในระยะเวลา 1 เดือน
"รัฐบาลเล็งเห็นว่า ควรต้องช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายย่อยๆ ให้ได้ ธนาคารออมสิน และทุกสถาบันการเงิน พร้อมที่จะเป็นกลไกผลักดันวงเงินกู้ซอฟท์โลนระยะ 2 นี้ ให้ไปถึงมือผู้ประกอบการให้ได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งเงินกู้นี้จะไปผลักดันให้เกิดการหมุนเวียนในกิจกรรมต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจอีกมาก" ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าว
นายชาติชาย กล่าวถึงกรณีจัดตั้งกองทุนร่วมทุน(เวนเจอร์แคปิตอล) ว่า ภายในสัปดาห์นี้ ธนาคารออมสินจะลงนามกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เพื่อร่วมลงทุนในเวนเจอร์แคปิตอล โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะใส่วงเงินร่วมทุนอีก 100 ล้านบาท เพื่อต่อยอดในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs พร้อมทั้งจะคัดสรรผู้ประกอบการ SMEs ที่มีประสิทธิภาพ และมีศักยภาพให้เข้ามาอยู่ในการสนับสนุนจากกองทุนดังกล่าวด้วย