คณะทำงานร่วมภาครัฐ-เอกชนนัดแรกถกแนวทางผลักดันส่งออก-แก้ปัญหารายตลาด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 11, 2016 17:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ตนเองในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐของคณะทำงานส่งเสริมการส่งออกและการลงทุนในต่างประเทศ ได้เชิญหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าประชุมคณะทำงานฯ เพื่อร่วมกันหารือแนวทางการผลักดันการส่งออกและการลงทุนในต่างประเทศ โดยมีนายสนั่น อังอุบลกุล เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีให้แต่งตั้งคณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ(Public-Private Steering Committee) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

สำหรับประเด็นของการประชุม นอกจากจะรับฟังแนวทางการผลักดันการส่งออกและการแก้ไขปัญหาจากภาคเอกชนในรายตลาดแล้ว คณะทำงานฯ ได้ให้ความสำคัญในเรื่อง Outward Investment หรือการส่งเสริมให้ภาคเอกชนไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้มีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ถึงขอบเขตการดูแลของสองหน่วยงานแล้ว BOI จะรับผิดชอบในส่วนของ Manufacturing Based และกระทรวงพาณิชย์จะรับผิดชอบในส่วนของ Non-Manufacturing Based ซึ่งได้แก่ การเปิดธุรกิจหรือแฟรนไชส์ในต่างประเทศ รวมถึงการตั้งสำนักงาน (Sale Representative) ในต่างประเทศ

ในส่วนของ Outward Investment นี้ คณะทำงานได้กำหนดกรอบการดำเนินงานเป็นช่วงๆ โดยในช่วง 1-2 เดือนนี้ ภาครัฐจะสนับสนุนด้านข้อมูลเชิงลึกรายเมือง/รายประเทศ กฎระเบียบเชิงลึก รวมรวมข้อมูลธุรกิจที่มีการลงทุนอยู่แล้วและผู้ลงทุนในแต่ละตลาด ตลอดจนรูปแบบการลงทุนที่แต่ละตลาดต้องการ เช่น ธุรกิจ Licensing ธุรกิจแฟรนไชส์ และการร่วมลงทุน ในขณะที่ภาคเอกชนจะทำหน้าที่รวบรวมและจัดลำดับความเร่งด่วนของปัญหาอุปสรรคที่ต้องการแก้ไข เช่น ปัญหาด้านการเงิน การประกัน และกฎระเบียบ ต่อจากนั้นจะเป็นการเชิญชวนและจัดสัมมนาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจลงทุนในต่างประเทศ เพื่อพัฒนาความรู้ เตรียมความพร้อม เสริมสร้างสมรรถนะเป็นรายบริษัท และนำภาคเอกชนเดินทางไปสำรวจลู่ทางและจับคู่ธุรกิจในแต่ละตลาด โดยได้เริ่มทาบทามคู่ค้านักลงทุนใน 2 ตลาดหลัก คือ กัมพูชา และเวียดนามแล้ว

ด้านเป้าหมายการส่งออกและการลงทุนในรายภูมิภาค ตลาดอาเซียนภายใต้ยุทธศาสตร์ Deepening ASEAN ที่ประชุมได้กำหนดเป้ามูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 6 สินค้าเป้าหมายได้แก่ สินค้าแบรนด์ อุปโภคบริโภค บริการเป้าหมายได้แก่ สุขภาพและความงาม ภาพยนตร์ ก่อสร้าง โลจิสติกส์ การศึกษา และแฟรนไชส์

ภายใต้ยุทธศาสตร์ Broadening ASEAN กำหนดให้ตลาดจีนมีเป้ามูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 3.5 สินค้าเป้าหมายได้แก่ อาหารและเครื่องดี่ม ผลไม้ ข้าวหอมมะลิ ของตกแต่งบ้าน สุขภาพและความงาม แฟชั่น บริการเป้าหมายได้แก่ ร้านอาหาร บันเทิง สุขภาพ และโลจิสติกส์ ด้านตลาดอินเดียตั้งเป้าขยายตัวร้อยละ 9 สินค้าเป้าหมายได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม สุขภาพและความงาม แฟชั่น ของตกแต่งบ้าน ในขณะที่ธุรกิจบริการเป้าหมายได้แก่ ธุรกิจสุขภาพ ร้านอาหาร และท่องเที่ยว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ