ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญในการจัดกิจกรรมจะเน้นสร้างความเข้าใจและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาตต และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะการให้ข้อมูลรายละเอียดและสร้างความเข้าใจในส่วนของนโยบายที่จะสิ้นสุดการให้ส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2559 ได้แก่ มาตรการเร่งรัดการลงทุน ซึ่งเปิดให้ภาคเอกชนที่สนใจต้องยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนภายในเดือนมิถุนายน 2559 เช่นเดียวกับการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนใน 6 กิจการเป้าหมายในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่จะต้องยื่นภายในเดือนมิถุนายน 2559 ด้านนโยบายส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ จะต้องยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2559
นอกจากนี้ บีโอไอยังอยู่ระหว่างจัดทำผลสำรวจความพร้อมของนักลงทุนเกี่ยวกับมาตรการเร่งรัดการลงทุนด้วย เบื้องต้นคาดว่ามีโครงการลงทุนที่อยู่ในกลุ่มที่สามารถยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการดังกล่าวได้จำนวนกว่า 1,600 โครงการ
"ปีนี้บีโอไอจะเน้นกระตุ้นให้นักลงทุนเร่งตัดสินใจลงทุนตามนโยบายของรัฐบาล เนื่องจากมีบางส่วนที่ภาคเอกชนต้องรีบตัดสินใจโดยเร็วเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น โดยมั่นใจว่าหากนักธุรกิจมีการลงทุนตามนโยบายต่างๆ นอกจากจะช่วยผลักดันให้การลงทุนปีนี้เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดว่าจะมีมูลค่าขอรับส่งเสริมการลงทุนอยู่ที่ประมาณ 450,000 ล้านบาทแล้ว การลงทุนของภาคเอกชนยังจะช่วยเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมาก" นางหิรัญญา กล่าว
สำหรับภาพรวมการลงทุนในปี 2558 ที่ผ่านมา มีโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนคิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 800,000 ล้านบาท ซึ่งได้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศในหลายด้าน อาทิ เพิ่มการจ้างงานแรงงานไทย 183,000 คน เกิดการใช้วัตถุดิบในประเทศมูลค่าประมาณ 781,000 ล้านบาทต่อปี และสร้างรายได้จากการส่งออกประมาณ 1,164,000 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ โครงการที่ได้รับอนุมัติเป็นกิจการเป้าหมายที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ประกอบ โครงการในกลุ่มเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น ซอฟต์แวร์, CLOUD SERVICE จำนวน 183 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 18,900 ล้านบาท โครงการในกลุ่ม IHQ ITC จำนวน 127 โครงการ มูลค่ารวม 3,030 ล้านบาท
โครงการในกลุ่มพลังงานทดแทนและการประหยัดพลังงาน เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จำนวน 248 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 166,590 ล้านบาท และโครงการในกลุ่มวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เช่น การวิจัยพัฒนา การผลิตเครื่องมือแพทย์ เทคโนโลยีชีวภาพ การออกแบบทางวิศวกรรม จำนวน 126 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 30,240 ล้านบาท เป็นต้น