สำหรับการส่งออกที่ขยายตัว 2% ศูนย์ฯ ได้ประเมินจากปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบมากสุดในขณะนี้ คือภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน จากสมมติฐานผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)ของจีนที่หดตัวลงทุก 1% มีผลทำให้การส่งออกสินค้าไทยไปตลาดจีนลดลง 3.97% หากจีดีพีของจีนปีนี้ขยายตัว 6.3% ตามที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ประเมินไว้จะทำให้การส่งออกของไทยไปจีนมีมูลค่าเพียง 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.1% และจะทำให้การส่งออกของไทยในภาพรวมปีนี้ขยายตัวเหลือ 2% มูลค่า 218,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
แต่หากจีดีพีจีนขยายตัวเหลือแค่ 6.0% จะทำให้การส่งออกไทยไปจีนมีมูลค่าเหลือเพียง 23,100 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.2% และทำให้การส่งออกในภาพรวมของไทยขยายตัวได้เพียง 0.4% มูลค่า 214,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งประเมินว่าในปีนี้ไทยยังคงส่งออกไปตลาดจีนติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 3
"ตัวเลขส่งออกไทยปี 59 ที่จะเติบโต 2% นั้น มีความเป็นไปได้ 60-70% ขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงคือภาวะเศรษฐกิจจีน เพราะหากจีดีพีจีนหดตัวกว่าที่มีการประเมินกันในปัจจุบัน ก็จะทำให้ตัวเลขส่งออกไทยลดลงไปมากกว่า 2% แต่หากเศรษฐกิจจีนขยายตัวมากกว่า 6.3% ก็จะทำให้ส่งออกไทยขยายตัวมากกว่า 2% ได้เช่นกัน เพราะไทยส่งออกไปตลาดจีนมีสัดส่วนมากสุดถึง 11% ของการส่งออกรวม จึงมีผลกระทบกับภาคส่งออกไทยมาก เป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด" นายอัทธ์ กล่าว
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นอีก ทั้งศักยภาพการแข่งขันด้านส่งออกของประเทศคู่แข่งเพิ่มขึ้น เช่น กลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) ราคาสินค้าเกษตรลดลง สหภาพยุโรป (อียู) ให้ใบเหลืองอุตสาหกรรมประมงไทย และความเสี่ยงจากการก่อการร้ายระหว่างประเทศ ส่วนปัจจัยที่เป็นโอกาสต่อการส่งออกไทย เช่น เศรษฐกิจโลกมีทิศทางฟื้นตัว โดยไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกปี 59 จะขยายตัว 3.6% เพิ่มขึ้นจากปี 58 ที่ขยายตัว 3.1%
ขณะที่เงินบาทคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37 บาท/เหรียญสหรัฐ แต่ต้องติดตามการอ่อนค่าของสกุลเงินประเทศคู่แข่งด้วยว่าใกล้เคียงกับค่าเงินบาทหรือไม่ และราคาน้ำมันดิบตลาดโลกแม้จะทรงตัวต่ำ แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
อย่างไรก็ตามจากภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงมา ทำให้ภาคการส่งออกไทยจะต้องหันไปพึ่งพาตลาดส่งออกที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว เช่น สหรัฐฯ รวมถึงการส่งออกไปตลาดกลุ่มซีแอลเอ็มวี และตลาดอินเดียให้มากขึ้น โดยควรทำกลยุทธ์เพื่อเจาะตลาดเหล่านี้ โดยเฉพาะตลาดอินเดียที่คาดว่าจะมีจีดีพีขยายตัวสูงสุดในปี 59 ส่วนกลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะส่งออกลดลงตามทิศทางของราคาน้ำมันดิบที่ลดลง ได้แก่ กลุ่มเคมีภัณฑ์ พลาสติก และยางพารา ส่วนสินค้าที่คาดว่าการส่งออกได้ดี เช่น อาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์และปลา อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ และรถยนต์และส่วนประกอบ
ส่วนกรณีที่ราคายางพาราคาตกต่ำนั้นเป็นผลจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว เพราะจีนเป็นผู้นำเข้ายางรายใหญ่สุดของโลก มีการนำเข้าต่อปีถึง 3.7 ล้านตัน และนำเข้าจากไทยถึง 2 ล้านตัน เมื่อเศรษฐกิจจีนตกต่ำ จึงทำให้ราคายางลดลงด้วย ประกอบกับ ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกลดลง ทำให้ราคายางลดลงตามไปด้วย
ดังนั้น ไทยจำเป็นต้องปรับตัวด้วยการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยาง หรือส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นเหมือนมาเลเซียที่มีการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางพาราไปตลาดจีนมากสุด และเพิ่มปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์ยางในประเทศ ส่วนการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ารัฐบาลมี 2 ทางเลือกคือ เพิ่มราคายางด้วยการแทรกแซง หรือลดต้นทุนการผลิตยางให้กับเกษตรกร เพราะต้นทุนการผลิตยางปัจจุบันของไทยขณะนี้สูงเกินไป โดยอยู่ที่ 64 บาท/กิโลกรัม