คมนาคม เล็งทบทวนปริมาณใช้ยางทำถนนเพิ่มอีก 3 หมื่นตันขานรับคำสั่งนายกฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 12, 2016 17:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมจะทบทวนปริมาณการใช้ยางพาราให้เพิ่มขึ้นจากที่เสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาในวันนี้ที่ปริมาณน้ำยางจำนวน 20,687 ตัน หลังจากนายกรัฐมนตรีสั่งการให้ 8 กระทรวงพิจารณาเพิ่มปริมาณการใช้ เพื่อให้ความช่วยเหลือชาวาสวนยางได้เพิ่มขึ้น
"หลังจาก ครม.ได้รับทราบปริมาณความต้องการใช้ยางพาราและวงเงินงบประมาณของแต่ละกระทรวงแล้วได้ให้แต่ละกระทรวงกลับไปพิจารณาทบทวนเพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้ยางพาราในวัสดุครุภัณฑ์ สิ่งก่อสร้างต่างๆ โดยคำนึงถึงคุณลักษณะเฉพาะที่มีความเหมาะสมทางด้านเทคนิค และจัดส่งต่อสำนักงบประมาณเพื่อรวบรวมนำเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งภายใน 1 สัปดาห์"นายอาคม กล่าว

พร้อมกันนี้ ครม.ยังได้มอบหมายสำนักงบประมาณพิจารณาความเหมาะสมในการจัดทำราคามาตรฐานวัสดุครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้างที่มียางพาราเป็นส่วนผสมในราคาที่รัฐบาลจะรับซื้อตามคุณภาพของยางพารา และให้จัดหางบประมาณเพิ่มเติมให้ส่วนราชการ เพื่อชดเชยส่วนต่างราคาในการรับซื้อยางพาราด้วย

นายอาคม กล่าวว่า หน่วนงานหลักของกระทรวงคมนาคมที่สามารถนำยางพารามาใช้ในโครงการต่าง ๆ คือ กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ซึ่งมีแผนใช้ยางพาราภายใต้งบประมาณรายไจ่ายปี 59 จำนวน 19,301 ล้านตัน และเพิ่มเติมจากงบเหลือจ่ายอีกจำนวน 1,386 ตัน รวมเป็นปริมาณยางทั้งสิ้น 20,687 ตัน คิดเป็นมูลค่างานทั้งสิ้น 10,223 ล้านบาท แบ่งเป็น งานในส่วนของกรมทางหลวงในงบปี 59 จำนวน 9,753 ตัน และงบเหลือจ่ายอีก 560 ตัน ส่วนกรมทางหลวงชนบทงบปี 59 จำนวน 9,548 ตัน และงบเหลือจ่ายอีก 826 ตัน โดยจะสามารถทำชั้นผิวถนนได้ 37.1 ล้านตารางเมตร

ส่วนที่ได้เสนอเพิ่มเติมเป็นแผนงานในปี 60-61 ซึ่ง ครม.ให้กลับมาทบทวนตัวเลขอีกครั้ง เนื่องจากจะเกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณที่รัฐบาลจะต้องพิจารณาจัดสรรให้ เช่น อาจจะได้ระยะทางที่เพิ่มขึ้นกว่าที่ทำแผนไว้ คาดว่าจะใช้ปริมาณยางเพิ่มอีกกว่า 30,000 ตัน แต่ต้องทบทวนตัวเลขใหม่แล้วเสนอในสัปดาห์หน้า

รมว.คมนาคม กล่าวว่า ปริมาณน้ำยางพาราในเบื้องต้นที่เสนอไป 20,687 ตันนั้น เป็นปริมาณน้ำยางดิบ ซึ่งจะมีกระบวนการในการนำยางมาผสมกับแอสฟัลติก ซึ่งน้ำยางดิบต้นจากเกษตรกรจะถูกแปรรูปขายต่อให้โรงงานผลิตยางมะตอยอีกทอดหนึ่งเพื่อนำมาผสมกันตามสัดส่วนที่เหมาะสมเพื่อรักษาความความหนืดของยางและอายุการใช้งานที่มากขึ้นคือ สัดส่วน 5% ส่วนจะใช้ได้เพิ่มมากกว่านี้อีกหรือไม่อยู่ระหว่างการวิจัย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ