ก.พลังงาน ห่วงยอดใช้น้ำมันพุ่งหลังราคาลด หวั่นต้องนำเข้าเพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 13, 2016 14:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์ทิศทางราคาน้ำมันของกระทรวงพลังงาน พบว่า ในช่วงปัจจุบันและจนอาจถึงสื้นไตรมาส 1 ของปี 2559 นี้ ราคาน้ำมันขายปลีกของไทยมีแนวโน้มที่ราคาจะอยู่ในระดับทรงตัว และหากไม่มีกรณีฉุกเฉิน เช่น การเกิดสงครามในกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันอย่างรุนแรง ซึ่งคาดว่าราคาน้ำมันขายปลีกในไทยอาจยังมีโอกาสที่ราคาปรับตัวลดลงได้เล็กน้อย ทั้งในกลุ่มราคาน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และน้ำมันดีเซลซึ่งถือเป็นเชื้อเพลิงสำคัญในภาคขนส่งและต่อภาคอุตสาหกรรม โดยส่วนหนึ่งอาจจะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการจะกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันน่าจะยังไม่มีราคาสูงขึ้น มาจากสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลก ที่มีผลกระทบต่อราคาขายปลีกในประเทศไทย โดยราคาน้ำมันดิบโดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบดูไบคาดว่าในปี 2559 จะมีราคาเฉลี่ยอยู่ระหว่างประมาณ 35-45 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากปัจจุบันราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 26 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งสาเหตุหลักที่ราคาน้ำมันลดลง จากการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่เตือนว่า จากภาวะเศรษฐกิจของจีนที่เริ่มชะลอตัว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกรุนแรงเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ยอดการผลิตน้ำมันของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกหรือโอเปกยังคงสูงกว่ายอดใช้อยู่เล็กน้อย

นายอารีพงศ์ กล่าวว่า กระทรวงพลังงานกังวลถึงยอดการใช้น้ำมันขายปลีกของไทย โดยเฉพาะกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ ที่มีการใช้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยพบว่าในปี 2558 ที่ผ่านมา มียอดการใช้น้ำมันสำเร็จรูปรวมทุกผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ประมาณ 4.2% ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลงจากไตรมาสแรกของปี 58 จนถึงปัจจุบันประมาณ 10-12 บาทต่อลิตร สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ได้ลดลงต่อเนื่องเช่นกัน รวมทั้งจากปัจจัยการสลับจากการใช้เชื้อเพลิงทางเลือกอย่างก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) และราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV) มาใช้น้ำมันบางส่วน ซึ่งหากยังมียอดการใช้น้ำมันในประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ก็อาจจะเกิดความเสี่ยงที่ประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน จะขอความร่วมมือจากประชาชนในการประหยัดพลังงานต่อเนื่อง ลดการใช้น้ำมันลงหรือใช้ในยามจำเป็น โดยเฉพาะมาตรการที่ทำได้ง่าย ๆ สำหรับผู้ขับขี่รถยนต์ที่จะช่วยลดการใช้น้ำมัน เช่น การเติมลมยางให้อยู่ในระดับพอดีไม่ให้อ่อนและแข็งเกินไป การขับรถไม่เกิน 90 กม.ต่อชั่วโมง การไม่บรรทุกสิ่งของมากเกินความจำเป็น และการตรวจเช็คเครื่องยนต์อย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง รวมถึงการเลือกใช้ระบบขนส่งมวลชน และขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น ก็จะช่วยให้เกิดการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้ประหยัดเงินได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยบรรเทาวิกฤตจราจรในปัจจุบันอีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ