พาณิชย์ ผลักดันหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ใน 6 จ.ปี 59 เริ่มนำร่อง 3 อ.ในชัยภูมิ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 13, 2016 17:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เดินหน้าผลักดันโครงการหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ โดยได้นำร่องให้ 7 หมู่บ้าน ใน 3 อำเภอของจังหวัดชัยภูมิ ได้แก่ อ.หนองบัวแดง อ.หนองบัวระเหว และ อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ เป็นพื้นที่ปลอดสารพิษ ด้วยการสนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่หันมาเพาะปลูกสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ไม่ใช้สารพิษให้มากขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ควบคู่ไปกับการสร้างช่องทางการจำหน่าย ภายใต้โครงการตลาดชุมชนที่ดำเนินการโดยกรมการค้าภายใน
"ถ้าเกษตรกรหันมาเพาะปลูกสินค้าเกษตรอินทรีย์ หรือสินค้าปลอดสารพิษ ก็จะสามารถขายได้ในราคาที่สูงกว่าราคาปกติ เกือบ 2 เท่า เพราะสินค้าเป็นที่ต้องการของตลาดมาก ในระยะยาวช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรได้ โดยเฉพาะลดต้นทุนในการซื้อสารเคมีหรือยากำจัดแมลงศัตรูพืช และช่วยลดปริมาณการนำเข้าสารเคมีจากต่างประเทศได้ด้วย" รมว.พาณิชย์ กล่าว

พร้อมระบุว่า การทำการเกษตรอินทรีย์จะช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะดิน น้ำ และอากาศ เพราะก่อนการเพาะปลูกสินค้าเกษตรอินทรีย์ ช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องจากไม่มีการใช้สารเคมี จึงทำให้ฟาร์มเกษตรอินทรีย์มีพืชและสัตว์ต่างๆ อยู่หลากหลายชนิด และที่สำคัญยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาโลกร้อนในขณะนี้

นางอภิรดี กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาสำนักงานพาณิชย์จังหวัดชัยภูมิ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้สนับสนุนและส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ ทั้งการปลูกพืชผัก ผลไม้ และการทำการปศุสัตว์ รวมทั้งการทอผ้าฝ้าย และผ้าไหมที่มาจากต้นไม้ที่ไม่ใช้สารเคมี ขณะเดียวกันได้อบรมความรู้เรื่องการตลาด การเชื่อมโยงการตลาด การเจรจาธุรกิจ รวมทั้งการเปิดศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ครบวงจรร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนภูเชียงทา อ.หนองบัวระเหว และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนย้อมผ้าสีธรรมชาติ อ.หนองบัวแดง เป็นต้น

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลิตภัณฑ์ปลอดสารพิษที่ผลิตได้ในขณะนี้ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ, ข้าวไรซ์เบอรี่, ชา, กล้วยหอมทอง, ข้าวโพด, มะม่วงหิมพานต์, พืชผักผลอดสารพิษ, การทำปศุสัตว์, เลี้ยงวัว, สุกร และไก่ รวมทั้งการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การทอผ้าฝ้าย และผ้าไหม โดยเฉพาะที่ อ.หนองบัวแดงมีการทอผ้าฝ้ายและไหมที่ย้อมจากสีธรรมชาติที่มาจากต้นไม้ที่ไม่ใช้สารเคมีพ่น โดยวิสาหกิจชุมชนจะรวบรวมสมาชิกในพื้นที่เพื่อปลูกฝ้าย และปลูกพืชผักผลไม้แซมในสวน สมาชิกสามารถปลูกกล้วยหอมทองส่งญี่ปุ่นได้เดือนละ 4 ตัน

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังได้ผลักดันให้มีการเชื่อมโยงสินค้ากับผู้ซื้อจากญี่ปุ่นที่สนใจสั่งซื้อผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ เพื่อนำไปผลิตเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งตลาดญี่ปุ่น ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 160 ราย มีรายได้ต่อหัวเดือนละ 6,000- 8,000 บาท ทำให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้

"ต่อไปนานาประเทศจะให้ความสำคัญกับความมั่นคง และความปลอดภัยทางอาหารมากขึ้น ดังนั้น อาหารปลอดสารพิษ อาหารที่เป็นอินทรีย์ หรือออร์แกนิคจะยิ่งมีความต้องการมากขึ้น และขายได้ราคาสูงกว่าสินค้าปกติ แต่ความเข้าใจเรื่องเกษตรอินทรีย์ของไทยยังไม่กว้างขวาง มาตรฐานที่รองรับส่วนใหญ่จะเป็นมาตรฐานในประเทศที่เป็นของหน่วยราชการ สำหรับมาตรฐานสากลยังมีบริษัทที่ขอรับมาตรฐานดังกล่าวน้อยมาก เพราะต้องมีผู้เชี่ยวชาญบินมาตรวจสอบเป็นประจำ และค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงสำหรับเกษตรกร ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะผลักดันให้เกษตรกรได้รับมาตรฐานภายในประเทศก่อน และจะผลักดันเข้าสู่มาตรฐานสากลต่อไป" รมว.พาณิชย์ กล่าว

ทั้งนี้ ในปี 59 กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าผลักดันให้เกิดหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ครบวงจร คือ มีการปลูกพืชผัก เลี้ยงปศุสัตว์ และการผลิตสินค้าอื่นที่มาจากพืชอินทรีย์จำนวน 6 จังหวัด จากที่มีอยู่กระจัดกระจายทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจเพื่อพัฒนาเป็นหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผ่านตลาดชุมชน 10 แห่ง หรือ Farm Outlet 31 แห่ง รวมทั้งจำหน่ายตามห้างร้านในจังหวัดต่างๆ ให้มากขึ้น และบรรจุข้อมูลแหล่งซื้อ-ขายเหล่านี้ลงใน application ลายแทงของถูก ของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเป็นฐานข้อมูลให้ผู้สนใจสินค้า โดยในอนาคตจะเชื่อมโยงแหล่งเกษตรอินทรีย์กับการท่องเที่ยวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ