(เพิ่มเติม) สคร.เตรียมเสนอร่างพ.ร.บ.พัฒนากำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจให้ซุปเปอร์บอร์ด 18 ม.ค.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 14, 2016 12:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า สคร. จะนำเสนอร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... เพื่อให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจพิจารณาในวันที่ 18 มกราคม 2559 และคาดว่าจะสามารถนำร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้ภายในเดือนม.ค.นี้ จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการพิจารณารายละเอียดถ้อยคำของร่างกฎหมายโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และส่งกลับเข้ามาให้ครม.อนุมัติอีกครั้ง ก่อนที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ต่อไป ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จเป็นกฎหมายออกมาบังคับใช้ได้ราวเดือนก.ค.59

กฎหมายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นผ่านการนำหลักบรรษัทภิบาลที่ดี (Good Corporate Governance) ตามมาตรฐานสากลมาปรับใช้กับรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง รวมทั้งจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่าและประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทร่างกฎหมายดังกล่าวได้จัดทำขึ้นโดยอนุกรรมการพัฒนาระบบกำกับดูแลและระบบบรรษัทภิบาลของรัฐวิสาหกิจ และคณะอนุกรรมการเตรียมการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ซึ่งมี นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นประธาน ซึ่งได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากทั้งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ รวมถึงสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจและสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้การจัดทำร่างกฎหมายเป็นไปอย่างรอบคอบและโปร่งใสตั้งแต่เริ่มต้น โดยได้นำข้อสังเกตและความเห็นจากการสัมมนาดังกล่าวมาปรับปรุงร่างกฎหมายให้มีความเหมาะสมด้วยแล้ว

ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวย้ำว่า การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจโดยการจัดทำกฎหมายนี้จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อันมีผลเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับระบบเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนในระยะยาว

ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวด้วยว่า จะนำหลักของการเป็นบรรษัทภิบาลที่ดีมาปรับใช้กับรัฐวิสาหกิจด้วย ซึ่งการที่จะเป็นบรรษัทภิบาลที่ดีได้นั้น จะประกอบไปด้วยสิ่งสำคัญ 5 ประการ คือ 1.มีกฎกติกาที่ชัดเจน 2.มียุทธศาสตร์การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ 3.มีความโปร่งใสในการคัดเลือกกรรมการรัฐวิสาหกิจ 4.มีความรับผิดชอบที่ชัดเจน และ 5.การเข้ามามีส่วนร่วม

“กฎหมายฉบับนี้ทำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ มุ่งเน้นเรื่องการปฏิรูป กฎหมายฉบับนี้เป็นการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนจริงๆ ดังนั้นขอให้มั่นใจว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นการปฏิรูปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ไม่ใช่การแปรรูป ซึ่งรัฐวิสาหกิจยังคงเดิมอยู่ทุกอย่าง แค่เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการให้โปร่งใส ซึ่งประโยชน์ทีแต่ละรัฐวิสาหกิจจะได้รับนั้นจะทำให้เกิดความเข้มแข็ง ซึ่งเมื่อรัฐวิสาหกิจมีความเข้มแข็ง ก็จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของประเทศในระยะยาวได้มากขึ้น” นายเอกนิติ กล่าว

สำหรับความคืบหน้าเรื่องการดำเนินโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนภายใต้โครงการ PPP Fast Track ใน 5 โครงการ ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวว่า ในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี มูลค่า 56,725 ล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง มูลค่าโครงการ 54,768 ล้านบาทนั้น กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของ สคร. ซึ่งคาดว่า สคร.จะพิจารณาแล้วเสร็จและสามารถนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP)ได้ตามกำหนดในเดือนก.พ.นี้ และคาดว่าจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมครม.ภายใน มี.ค.

“สายสีชมพู สีเหลืองเราตั้งใจจะเสนอกรรมการ PPP ให้ทันภายใน ก.พ. มีสายสีน้ำเงินที่ตอนนี้กำลังตามอยู่ เพราะเดิมกำหนดไว้ว่ากระทรวงคมนาคมจะส่งมาให้ภายในเดือนธ.ค. ตอนนี้ยังไม่ส่งมา เราได้ส่งจดหมายไปตามแล้ว เพราะไม่เช่นนั้นการพิจารณาจะล่าช้าออกไป เพราะเดิมเรามี date line กันไว้ว่าภายในธ.ค.58 กระทรวงเจ้าสังกัดจะต้องอนุมัติและส่งมาที่ สคร. พอ สคร.อนุมัติ จะต้องนำเสนอ กรรมการ PPP ภายใน 2 เดือน ตอนนี้สายสีชมพูและสีเหลืองส่งมาให้เราแล้ว ยังขาดสีน้ำเงิน ส่วนมอเตอร์เวย์ 2 สายคาดว่าจะเป็นมิ.ย."นายเอกนิติ กล่าว

อนึ่ง ก่อนหน้านี้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการ PPP ได้อนุมัติคัดเลือก 5 โครงการลงทุนแรกที่จะเสนอให้เป็น PPP Fast track เพื่อผลักดันให้มีการดำเนินการที่รวดเร็วขึ้น โดยจะพยายามทำให้ขั้นตอนทุกอย่างบรรลุภายในช่วงครึ่งแรกของปี 59 โดยคาดว่าจะเปิดประกวดราคาให้ได้ภายใน พ.ค.59

ด้านนายณัฐวุฒ ไพศาลวัฒนา รองโฆษก สคร. ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การเพิ่มประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจตามร่างกฎหมายนี้จะเป็นการยกระดับการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจของประเทศไทยให้มีความชัดเจน โปร่งใส และสอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาลที่เป็นมาตรฐานสากล ได้แก่ การจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจขึ้นเป็นองค์กรหลักในการรับผิดชอบรัฐวิสาหกิจทั้งระบบ การจัดทำแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจเพื่อกำหนดนโยบายที่เป็นเอกภาพให้รัฐวิสาหกิจถือปฏิบัติ การประเมินผลงานรัฐวิสาหกิจที่เป็นรูปธรรมและสอดคล้องกับเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ ตลอดจนมีการสร้างความโปร่งใสให้กับกลไกการแต่งตั้งบุคคลเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวจะมีผลเป็นการป้องกันการแทรกแซงจากการเมืองที่ไม่เหมาะสมเพื่อลดโอกาสที่จะนำรัฐวิสาหกิจไปใช้ในการดำเนินนโยบายประชานิยมที่ไม่รับผิดชอบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ