นายสุนชัย เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4-7 ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เมื่อเดือนส.ค.57 สร้างขึ้นเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเครื่องที่ 4-7 เดิม ซึ่งเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ ปี 27 เป็นเวลากว่า 30 ปี และมีกำหนดปลดออกจากระบบในวันที่ 31 ธ.ค.60 โรงไฟฟ้าใหม่นี้ มีขนาดกำลังผลิต 600 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใช้เทคโนโลยีสะอาดที่มีประสิทธิภาพสูง (Ultra - Super critical) แห่งแรกของกฟผ. ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง สามารถลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า มีการควบคุม มลสารให้ดีขึ้นเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
โดยโรงไฟฟ้าติดตั้งเครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (FGD) เครื่องกำจัดฝุ่นด้วยไฟฟ้าสถิตแรงสูง (ESP) พร้อมติดตั้งอุปกรณ์เครื่องดักจับก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (Selective Catalytic Reduction : SCR) ซึ่งจะช่วยควบคุมผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังมีการควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมแบบตามเวลาจริง ตลอด 24 ชั่วโมง (Real-time) ผ่านระบบออนไลน์ ของกรมควบคุมมลพิษ จึงมั่นใจได้ว่า กฟผ. มีการควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้าให้ดีกว่าเกณฑ์มาตรฐานกำหนดตลอดเวลา
ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ความคืบหน้างานก่อสร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4-7 ว่าก้าวหน้า 18% โดยกำลังดำเนินการก่อสร้างอาคารกังหันไอน้ำ และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Steam Turbine and Generator) งานติดตั้งโครงสร้างเหล็กของอาคารเครื่องกำเนิดไอน้ำ งานฐานรากของปล่องโรงไฟฟ้า (Stack) เครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (FGD) หอหล่อเย็น (Cooling Tower) และระบบสายพานลำเลียงถ่านหิน ทั้งนี้ โครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4-7 มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date : COD) ในวันที่ 13 พ.ย.61
"กฟผ. ให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม จึงเลือกเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงที่สุด ซึ่งสามารถลดการปล่อยมลสาร และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โครงการโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4-7 ถือเป็นต้นแบบของการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินของประเทศต่อไปในอนาคต เพื่อสร้างการยอมรับจากประชาชนและสังคม ดังปณิธานการดำเนินงานที่ว่า กฟผ. ผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทย"นายสุนชัย กล่าว