คลังให้ออมสิน-ธกส.ปล่อยสินเชื่อ 4-5 พันลบ.ให้หน่วยงานภาครัฐใช้รับซื้อยาง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 14, 2016 16:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมถึงแนวทางการให้ความช่วยเหลือกรณีปัญหายางพาราตกต่ำว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบ 3 แนวทางเพื่อบรรเทาปัญหาราคายางพาราตกต่ำในขณะนี้ โดยแนวทางแรก จะมอบหมายให้ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) ปล่อยสินเชื่อให้แก่องค์การคลังสินค้า(อคส.) และการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) เพื่อให้ 2 หน่วยงานเข้าไปรับซื้อผลผลิตยางพาราจากชาวสวนในปริมาณ 1 แสนตัน ในวงเงิน 4-5 พันล้านบาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0%

ทั้งนี้ มั่นใจว่าราคาที่ อคส.และกยท.เข้าไปรับซื้อจะสูงกว่าราคาตลาดแน่นอน โดยรัฐบาลจะเข้าไปช่วยสนับสนุนต้นทุนทางการเงินให้ธนาคารรัฐทั้ง 2 แห่ง โดยคาดว่าจะเร่งเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ในสัปดาห์หน้า เพราะถือว่าเป็นเรื่องด่วนที่จะต้องเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่ชาวสวนยาง

แนวทางที่ 2 จะมอบหมายให้ 4 ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ คือ ธนาคารออมสิน, ธกส., ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(SME Bank) และธนาคารกรุงไทย(KTB) ให้การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการหรือโรงงานที่รับซื้อผลผลิตยางพารา โดยวงเงินสินเชื่อนั้น ทั้ง 4 ธนาคารจะกลับไปหารือร่วมกันอีกครั้งว่าจะปล่อยสินเชื่อเท่าใด

แนวทางที่ 3 เป็นแนวทางเดิมที่ได้ดำเนินการอยู่แล้ว โดยจะอาศัยธนาคารพาณิชย์ 5 รายเดิม ที่ให้สินเชื่อสำหรับการเก็บสต็อกยางพารา ซึ่งในรอบใหม่นี้จะให้สินเชื่อเพื่อให้มีการเก็บสต็อกยางเพิ่มขึ้น โดยรัฐบาลจะเข้ามาชดเชยให้แก่ 5 ธนาคารพาณิชย์นี้

"มั่นใจว่าทั้ง 3 แนวทาง จะช่วยยกระดับราคายางพาราขึ้นได้ เพราะเป็นการดำเนินการอย่างครบวงจร มาตรการท้งหมดแม้จะเป็นมาตรการระยะสั้น 1 ปี แต่จะช่วยบรรเทาปัญหาในช่วงนี้ได้" รมว.คลัง กล่าว

พร้อมระบุว่า ได้มีการมอบนโยบายเพิ่มเติมให้แก่ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐว่าจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการดูแลภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น ดังนั้นไม่ว่าประเทศจะเกิดปัญหาอะไรในขณะนี้ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐจะต้องออกมาช่วยเหลือและดูแล โดยไม่ต้องรอรับนโยบายจากรัฐบาลอย่างเดียว ซึ่งหากมีความพร้อมก็สามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือได้เลย

ด้านนางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะรับไปศึกษาเรื่องการแปรรูปยางพาราภายในประเทศ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้น เนื่องจากไทยมีสัดส่วนการผลิตน้ำยางดิบราว 25% ถือเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก และยังมีการส่งออกมากกว่า 90% ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะเข้ามาช่วยส่งเสริมในจุดแข็งนี้ของไทยให้มากขึ้น

อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าในระยะสั้นคงต้องอาศัยธนาคารออมสินในการเข้ามาช่วยเรื่องการปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยางพารา เพื่อนำเงินมาปรับปรุงเครื่องจักรใหม่ และเสริมประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ