ในขณะที่ร.ฟ.ท.นั้น ยืนยันว่า รถไฟสายสีแดงใช้เงินกู้จาก องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น (JICA) ลงทุนก่อสร้างและ จัดหาระบบ ตัวรถไฟฟ้าแล้ว หากให้เอกชนเข้ามาร่วมจะเป็นเพียงการบริหารจัดการเท่านั้นซึ่งไม่มีความจำเป็น และร.ฟ.ท.มีขีดความสามารถเพียงพอที่จะบริหารการเดินรถสายสีแดง แต่หากคนร.ยังไม่แน่ใจในความสามารถของ ร.ฟ.ท.จะขอประเมินผลการบริหารงานช่วงเวลา 5 ปี หากทำแล้วไม่ดี จะเปิดให้เอกชนมาร่วมบริหารจัดการได้
พร้อมกันนี้ กระทรวงคมนาคมจะเร่งนำเสนอ ครม.เพื่อขออนุมัติโครงการก่อสร้าง รถไฟสายสีแดงอ่อน ช่วง บางซื่อ-พญาไท – มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง พร้อมกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ในช่วง พญาไท-บางซื่อ เนื่องจากจะต้องใช้พื้นที่เดียวกันในการก่อสร้าง โดยอยู่ระหว่างรวบรวมความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงบประมาณ, สำนังานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.), สำนักบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)ซึ่งในสัปดาห์หน้าจะเชิญหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ มาร่วมหารือที่กระทรวงคมนาคม เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจรายละเอียดแต่ละโครงการก่อนนำเสนอครม. ทั้งประเด็นการก่อสร้าง และการเดินรถ
ส่วนประเด็นการให้เอกชนเข้ามาร่วมเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ นั้นเรื่องนี้ร.ฟ.ท.ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา ศึกษารูปแบบการร่วมลงทุนกับเอกชน จะสรุปผลศึกษา ไม่เกินสิ้นเดือนมี.ค. 59 ซึ่งในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะจัดตั้งบริษัทใหม่ โดยร่วมทุนกับเอกชนเพื่อเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ ส่วนต่อขยาย บางซื่อ-ดอนเมือง, สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ส่วนโครงการที่รัฐลงทุนไปแล้วเช่นช่วง พญาไท-บางซื่อ หรือ พญาไท-มักกะสัน-สุวรรณภูมิ จะแปรทรัพย์สินเหล่านี้ เป็นทุนในบริษัท
ส่วน บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) นั้น หากมีบริษัทร่วมทุนกับเอกชนแล้ว อาจต้องยุบ รฟฟท.โดยในส่วนของพนักงานอาจจะถ่ายโอนไปบริษัทใหม่ พร้อมกับทรัพย์สิน เพื่อเป้าหมายคือ ต้องการให้การบริหารเดินรถมีความคล่องตัวมากขึ้นจากปัจจุบันที่ รฟฟท.มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจจึงไม่คล่องตัว
ด้านนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่า รฟท.กล่าวว่า รฟท.ไม่ได้ปฏิเสธเรื่อง PPP แต่สำหรับสายสีแดงช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองและบางซื่อ-ตลิ่งชัน มีการลงทุนไปแล้ว ดังนั้น จะเสนอคนร.เพื่อขอเดินตามขั้นตอนและรูปแบบเดิม ส่วนการร่วมทุนกับเอกชน นั้น สามารถนำมาใช้ใน รถไฟสายสีแดงยังมีส่วนต่อขยายที่มีแผนด้านเหนือ จากดอนเมือง-รังสิต-อยุธยา-บ้านภาชี, ด้านตะวันออก ช่วงมักกะสัน-ฉะเชิงเทรา,ด้านใต้ ช่วงศาลายา-นครปฐม ซึ่งจะใช้เงินลงทุนก่อสร้างจำนวนมากได้ โดยตั้งบริษัทลูกขึ้นมาทำหน้าที่เดินรถสายสีแดง