อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวต่อว่า กรมบัญชีกลางจึงได้ทำการตรวจสอบข้อมูลและวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ ร่วมกับ ผู้ว่าราชการจังหวัด คลังเขต และคลังจังหวัด สรุปว่าปัญหาเกิดจากหลายสาเหตุ แต่ส่วนหนึ่งพบว่า อำเภอมีบุคลากร เครื่องคอมพิวเตอร์ ตลอดจนสิทธิในการเข้าใช้ระบบงานต่างๆ จำกัด อำเภอจึงได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว หรือออกใบสั่งซื้อสั่งจ้างหรือทำสัญญาแล้ว แต่เป็นการดำเนินการนอกระบบการจัดซื้อจัดจ้าง (e-GP) โดยจัดทำเป็นเอกสาร ซึ่งในการเบิกจ่ายเงินจำเป็นจะต้องทำในระบบจัดซื้อจัดจ้าง (e-GP) ก่อนและเชื่อมโยงไปในระบบ GFMIS
สำหรับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว กรมจึงได้สั่งการไปยังคลังจังหวัดให้ดำเนินการดังนี้
1. ให้คลังจังหวัดจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์ในการปฏิบัติงานให้กับจังหวัดและอำเภอที่มาขอใช้บริการที่สำนักงานคลังจังหวัด
2. ให้คลังจังหวัดจัดเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคลังจังหวัดรับผิดชอบแต่ละอำเภอและช่วยอำนวยความสะดวกในการบันทึกข้อมูลลงในระบบจัดซื้อจัดจ้าง และระบบการเบิกจ่ายเงินจากคลังตามปริมาณของงาน คาดว่าคลังจังหวัดจะจัดเจ้าหน้าที่เพื่อการนี้ จังหวัดละประมาณ 4-5 คน
3. ให้ขยายเวลาให้บริการของสำนักงานคลังจังหวัดหลังเวลาราชการจนถึง 20:00 น. ของทุกวันในวันราชการ และให้สำนักงานคลังจังหวัดเปิดทำการในวันหยุดราชการตั้งแต่ 08:30 น. -16.30 น.
"การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้สัญญา ซึ่งได้มีการลงนามเอกสารแล้ว ถูกบันทึกลงในระบบจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อเตรียมไปสู่การเบิกจ่ายเงินต่อไป" อธิบดีกรมบัญชีกลางระบุ
อนึ่ง จากการสำรวจของกรมบัญชีกลาง ณ วันที่ 11 มกราคม 2559 พบว่า มีใบสั่งซื้อสั่งจ้างหรือสัญญา 25,566 สัญญา เป็นเงิน 7,727 ล้านบาทที่ทำนอกระบบ ซึ่งการดำเนินดังกล่าวจะทำให้สามารถเบิกจ่ายได้โดยเร็วต่อไป