รมช.คลังร่วมประชุมสภาผู้ว่าการฯ-เปิดธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 18, 2016 10:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง ได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมในพิธีเปิดทำการและการประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 16-17 มกราคม 2559 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

โดยพิธีเปิดทำการธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Development Bank: AIIB) มีขึ้นเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2559 โดยนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้กล่าวสุนทรพจน์ และหัวหน้าคณะผู้แทนของประเทศสมาชิกผู้ก่อตั้งทั้ง 57 ประเทศได้ร่วมทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ ภายหลังจากที่ประชุมสภาผู้ว่าการ (Board of Governors: BOGs) ธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย ครั้งที่ 1 ได้มีมติให้ความเห็นชอบการเปิดทำการอย่างเป็นเอกฉันท์

นอกจากนี้ สภาผู้ว่าการได้ให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งนาย Jin Liqun เป็นประธานธนาคาร (President) และได้แต่งตั้งคณะกรรมการธนาคาร (Board of Directors: BODs) จากประเทศสมาชิก เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานของฝ่ายบริหาร รวมถึงได้ให้ความเห็นชอบแนวนโยบาย กฎระเบียบ และข้อกำหนดที่จำเป็นต่อการเริ่มดำเนินงานของธนาคารต่อไป

นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีประเทศสมาชิกผู้ก่อตั้งได้ให้สัตยาบันต่อความตกลงในการจัดตั้ง AIIB เพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกอย่างสมบูรณ์แล้วจำนวน 30 ประเทศ โดยประเทศที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อให้สัตยาบัน รวมถึงประเทศไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจปฏิบัติการเกี่ยวกับธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชียต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่ออนุวัตรการให้เป็นไปตามความตกลงฯ ก่อนที่จะสามารถให้สัตยาบันเพื่อเข้าเป็นสมาชิกของธนาคารอย่างสมบูรณ์ต่อไป

การเปิดทำการของธนาคาร AIIB อย่างเป็นทางการนี้ ถือเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และในสาขาอื่นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาให้กับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากธนาคาร AIIB จะเป็นแหล่งเงินทุนทางเลือกสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประเทศสมาชิกในภูมิภาค ซึ่งยังมีความต้องการเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในระยะยาวเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นในด้านพลังงาน การคมนาคมขนส่ง และการสื่อสาร ซึ่งเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลไทยในอันที่จะส่งเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างกันของประเทศสมาชิกทั้งในภูมิภาคและนอกภูมิภาค การพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเพื่อลดช่องว่างของระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาค อันจะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ