ทั้งนี้ การปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนธ.ค.58 เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ปัจจัยบวกที่ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการเดือนธ.ค. ได้แก่ การจัดกิจกรรมกระตุ้นยอดขายในช่วงสิ้นปี การจัดงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2015 และมาตรการลดหย่อนภาษี เพื่อกระตุ้นการบริโภคของประชาชนในช่วงปีใหม่ ประกอบกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับลดลงต่อเนื่องได้ส่งผลดีต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ
"ผู้ประกอบการที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง เห็นว่าการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นกลไกสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาขีดความสามารถด้านนวัตกรรมของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs)" นายสุพันธุ์ กล่าว
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 102.7 โดยปรับตัวลดลงจาก 104.4 ในเดือนพ.ย.58 ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการใน 3 เดือนข้างหน้า เกิดจากความกังวลต่อการชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศช่วงไตรมาสแรกของปี 59 เนื่องจากมีการเร่งการใช้จ่ายช่วงปลายปี 58 ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งอุตสาหกรรมแฟชั่น และเครื่องประดับ ปัญหาภัยแล้ง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะยางพารา ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ตลอดจนความกังวลภัยก่อการร้ายในหลายประเทศ
"ปัจจัยลบในปีนี้มีทั้งปัจจัยภายในประเทศ และปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ โดยปัจจัยภายในประเทศมีทั้งปัญหาภัยแล้ง ราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ ที่ภาครัฐบาลต้องเข้ามาช่วยเหลือ ส่วนต่างประเทศก็มีความเสี่ยงทั้งเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง ภัยก่อการร้าย ความไม่ลงรอยในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และราคาน้ำมันที่ผันผวน ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวไปด้วย ขณะที่เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอาเซียนดีอยู่ ดังนั้นทำอย่างไรจะเจาะตลาดกลุ่มนี้ได้เพิ่มขึ้น"ประธาน ส.อ.ท.กล่าว
ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนธ.ค. คือ เร่งเดินหน้าโครงการลงทุนขนาดใหญ่ และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ พร้อมออกมาตรการดูแลปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ เพื่อสร้างกำลังซื้อในภาคเกษตร อีกทั้งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ในการผลิตสินค้า เพื่อยกระดับมูลค่าสินค้าไทย และส่งเสริมการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศไทย