คนร.สั่ง 7 รสก.เร่งสางปัญหาภายในมี.ค. 59 พร้อมกำหนดแนวทางประเมินผล

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 18, 2016 15:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เปิดเผยผลการประชุม คนร. ครั้งที่ 1/2559 โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า คนร.ได้มีข้อสังเกตในการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจ

ทั้งนี้ คนร.สั่งการให้ส่วนองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้เร่งรัดให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาทบทวนแผนการจัดหารถ โดยให้พิจารณาประเภทและจำนวนที่เหมาะสม และเร่งจัดซื้อรถโดยสารก๊าซธรรมชาติ (NGV) 489 คันให้สามารถประกวดราคาให้แล้วเสร็จภายในมี.ค. 59 เช่นกัน

รวมทั้ง การจัดทำระบบตั๋วร่วม ให้เริ่มดำเนินการในส่วนที่สามารถดำเนินการได้เลยทันที โดยเฉพาะในส่วนของ ขสมก.ก่อน อีกทั้งให้พิจารณาความเป็นไปได้ในการให้เอกชนเข้ามาเดินรถในส่วนของ ขสมก. เพิ่มเติมและให้กำกับรถร่วมบริหารให้มีคุณภาพการให้บริการที่ดีขึ้น

ด้านบมจ.การบินไทย (THAI) ให้จัดทำแผนงานและกำหนดเวลาการจัดการตัวแทนจำหน่าย (Agent) ให้มีความชัดเจนและเสนอภายในเดือนมี.ค.59, ให้ชะลอการจัดหาเครื่องบินที่ยังไม่มีความจำเป็น ในกรณีมีการจัดหาเครื่องบินเพิ่มเติมจะต้องเป็นเครื่องบินประเภทเดียวกับที่มีอยู่แล้วในฝูงบิน

ส่วน บมจ.ทีโอทีและบมจ.กสท โทรคมนาคม คนร.มอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) กำหนดทิศทางและบทบาทที่ชัดเจนร่วมกันของรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่งและกำกับดุแลการดำเนินงานดังกล่าวให้มีความชัดเจนและเห็นผลเป็นรูปธรรมภายในเดือนมี.ค.59

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คนร.ระบุให้กระทรวงคมนาคมและรฟท.ต้องมีความชัดเจนถึงแหล่งเงินลงทุนในการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานก่อนนำเสนอ ครม.และให้เริ่มลงทุนให้ได้ภายในปี 59-60, กำหนดนนโยบายให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนสำหรับโครงการของรฟท. เพิ่มขึ้นแทนการให้ รฟท.ลงทุนเอง เพื่อลดภาระการลงทุนของภาครัฐในภาพรวม และสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงและรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ARL) ยืนยันให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในการดำเนินงานเดินรถ

นอกจากนี้ คนร.ยังกำหนดให้ รฟท. จัดทำแผนงานการส่งมอบพื้นที่ย่านโรงงานมักกะสันให้ชัดเจน โดยยืนยันให้รฟท. ทยอยส่งมอบพื้นที่ให้กระทรวงการคลังภายใน 2 ปี ยกเว้นพื้นที่ที่เป็นโรงพยาบาลและบ้านพักให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี

ในส่วนธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ให้เร่งชดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ให้เร่งดำเนินการจัดหาพันธมิตรให้เป็นไปตามแผนงานและลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เช่นกัน

"คนร.รับทราบผลการดำเนินงานตามแผนการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจทั้ง 7 แห่งในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ตามที่คณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัยหารัฐวิสาหกิจเสนอ ซึ่งเห็นว่า รัฐวิสาหกิจมีความคืบหน้าและพัฒนาดีขึ้นตามลำดับ แต่การแก้ไขปัญหาในบางประเด็นสำคัญ ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายและจำเป็นต้องมีการติดตามการแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด และจะมีการประเมินผลการดำเนินงานอีกครั้งในเดือนมี.ค.59"

นายเอกนิติ กล่าวว่า เพื่อให้กรรมการ ผุ้บริหาร และ พนักงานรัฐวิสาหกิจร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง คนร.จะติดตามผลการดำเนินงานตามแผนที่ยังต้องดำเนินการต่อเนื่อง โดยได้กำหนดตัวชี้วัดการประเมินผลการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจทั้ง 7 แห่ง เพื่อประเมินผลต่อไปในเดือน มี.ค. 59 และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจพิจารณาแผนการดำเนินงานในปี 59 ของรัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกับแผนปฏิรูปและนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งกำหนดแนวทางการประเมินผลการแก้ไขปัญหาและมาตรการเพื่อบังคับใช้ในกรณีที่รัฐวิสาหกิจไม่สามารถดำเนินการได้บรรลุตามเป้าหมาย ณ สิ้นเดือนมี.ค. 59

นอกจากนี้ ที่ประชุม คนร. ได้เห็นชอบในหลักการร่างพ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ....ตามที่คณะอนุกรรมการเตรียมการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติเสนอ และมอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว ก่อนนำเสนอครม.พิจารณาต่อไป

ขณะที่ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบกำกับดูแลและระบบบรรษัทภิบาลของรัฐวิสาหกิจและคณะอนุกรรมการเตรียมการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ เปิดเผยว่า สิ่งสำคัญของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ถือว่าเป็นต้องการให้เกิดการปฏิรูปเชิงสถาบันมีการวางแนวทางที่ชัดเจนและเข้มงวด ให้ความสำคัญกับเรื่องการบริหารจัดการที่ดีและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบันโดยเฉพาะความท้าทายกับการต่อสู้ในธุรกิจสมัยใหม่จึงจำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งจากภายใน

"หากถามว่าเมื่อออกกฏหมายแล้วรัฐวิสาหกิจทั้ง 12 แห่งจะดีขึ้นได้หรือไม่นั้น คงจะยังไม่ใช่แบบนั้น ปัจจุบันโลกเปลี่ยนสิ่งที่ทำคือทำให้กระดูกชิ้นเล็กชิ้นน้อยเข้าที่ทำงานให้เป็นปกติบรรษัทวิสาหกิจไม่ใช่เทวดา ไม่ใช่ซุปเปอร์แมน ไม่ใช่ยาวิเศษ แต่เป็นการทำให้รัฐวิสากิจเป็นปกติมากขึ้น"นายประสาร กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายประสาร ยอมรับว่า แม้จะมีร่างกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ก็คงไม่สามารถตัดขาดจากทางการเมืองได้แต่จะทำให้ดีขึ้นซึ่งสิ่งสำคัญขึ้นอยู่กับ การมีจริยธรรมและจรรยาบรรณ รวมไปถึงการออกกฎหมายการออกกฏหมายและข้อบังคับต่างๆที่ออกแบบช่วยในเรื่องการรักษาสมดุลของอำนาจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ