กูรูมอง ศก.ไทยเผชิญความผันผวนจากใน-ตปท.จับตา Q2/59 เสี่ยงการเมือง-แล้ง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 18, 2016 18:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.ภัทร กล่าวในงานสัมมนา “Economic and Business Outlook in 2016: Hot-button Issues for Directors"ว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.2% ภายใต้การเมืองที่ต้องออกมาเชิงบวก โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 2 ที่ต้องมีการติดตามสถานการณ์ต่างๆอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นช่วงที่ภาวะเสี่ยงที่สุดของเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นช่วงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่าจะผ่านหรือไม่

นอกจากนี้ยังมีปัญหาภัยแล้งและความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะการอ่อนค่าลงของค่าเงินหยวน และการท่องเที่ยวที่อยู่ในช่วงโลว์ซีซั่น จะเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่ำสุด ดังนั้น หากการเมืองมีปัญหาจะฉุดความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่กำลังรอการตัดสินใจว่าจะเพิ่มการลงทุนหรือไม่ ดังนั้น สิ่งสำคัญจะต้องทำให้การเมืองมีเสถียรภาพ เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งได้ภายในปี 60 และต้องเร่งการลงทุนให้ได้ตามแผนที่วางไว้ เพื่อขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจขยายได้ตามเป้าหมาย

ขณะที่ปัจจัยจากนอกประเทศ โดยเฉพาะราคาน้ำมันในตลาดโลกที่คาดการณ์ว่าจะลดต่ำลงถึง 25 ดอลลาร์สหรัฐ/บาเรล ปริมาณน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น หลังอิหร่านจะเริ่มส่งออกน้ำมันได้เป็นครั้งแรกหลังถูกคว่ำบาตร ซึ่งจะมีผลทำให้สหรัฐลดการผลิตShell oil ลง ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับขึ้นในครึ่งหลังโดยคาดว่าราคาเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 45 ดอลลาร์สหรัฐ/บาเรล

อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากความผันผวนจากตลาดการเงิน จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) จะมีผลทำให้สกุลเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น 5% เมื่อเทียบกับค่าเงินทุกสกุล และยังต้องติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนและนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจภายใน ผ่านการทำให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลง ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่า ค่าเงินหยวนมีโอกาสจะอ่อนค่าลง 6.6-7% และยังมีความเป็นห่วงว่า หากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว จะส่งผลต่อการบริโภคน้ำมันลดลงด้วย จะทำให้จีนเข้าสู่ภาวะเงินฝืด

ด้านนายบัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ สถาบันกรรมการบริษัทไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้เจอกับความไม่แน่นอนหลายด้าน โดยเฉพาะจากปัจจัยต่างประเทศ จากภาวะเศรษฐกิจจีน และตลาดหุ้นจีน ที่ส่งผลต่อการไหลเข้าออกของเงินทุน และส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน และจะกระทบต่อการส่งออกได้ รวมถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจากหลายประเทศที่กำลังปรับเพิ่มสูงขึ้นในขณะที่ไทยยังคงรักษาอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเพื่อพยุงเศรษฐกิจ ซึ่งอาจทำให้ไทยต้องเจอกับความผันผวนของตลาดเงิน และตลาดทุน นอกจากนี้ เรื่องความปลอดภัยจากปัญหาการก่อการร้าย ถือว่าเป็นความเสี่ยงใหญ่ ที่มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และความเชื่อมั่น เพราะตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมามีการก่อการร้ายข้ามประเทศในหลายแห่ง ทั้งไทย ตุรกี อินโดนีเซีย รวมถึง ปารีส ซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจเกิดได้เฉียบพลัน และไม่สามารถคาดเดาได้ และอีกปัจจัยคือความสามารถของเศรษฐกิจไทยเองที่จะรองรับกับความผันผวนที่เกิดขึ้น ซึ่งภาคธุรกิจต้องมีการบริหารจัดการ และติดตามสถานการณ์ต่างประเทศอย่างใกล้ชิด รวมทั้งติดตามโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่จะมีเม็ดเงินมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้ โดยยอมรับว่าปีนี้ไทยต้องพึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งภาครัฐอาจหามาตรการช่วยเพิ่มหรือกระตุ้นการใช้จ่ายในจังหวะเวลาที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวได้ในช่วงที่ต้องเจอกับความไม่แน่นอนจากต่างประเทศ อย่างไรก็ดีจากราคาน้ำมันที่ลดลง อาจส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในการเพิ่มอำนาจการซื้อให้กับประชาชน ในช่วงที่ปัญหาภัยแล้งอาจกระทบต่อรายได้เกษตรกร ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลเข้าใจปัญหา และมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไว้แล้ว

นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ อดีตรมว.คลัง กล่าวว่า มองภาพรวม GDP ปี 59 คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.7-3.7% ยังเป็นการขยายตัวที่ต่ำ และมีผลทำให้นักลงทุนต่างชาติหันไปลงทุนในประเทศอื่น เช่น เวียดนาม ฟิลิปินส์ เห็นได้จากการลงทุนโดยตรง หรือ FDI ที่ติดลบ 0.5% ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งสร้างอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจด้วยการลงทุนเพื่อเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนให้กลับมามีความเชื่อมั่นและเริ่มกลับมาลงทุนอีกครั้ง

ทั้งนี้ ยอมรับว่าเป็นห่วงการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่จะติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ซึ่งหลายฝ่ายต้องช่วยกันในการผลักดันการส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพ โดยเน้นเกษตรแปรรูปและอาหารซึ่งมีสัดส่วนส่งออก 20% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด และเห็นว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ควรใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงมากำหนดนโยบายการเงินและอัตราดอกเบี้ย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ