ขณะที่นายสมชัย ฤชุพันธุ์ โฆษก กมธ. กล่าวว่า แม้ธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐจะมีจำนวนมาก แต่ยังมีประชาชนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงระบบการเงิน ทำให้ชุมชนจึงเกิดการจัดตั้งสถาบันการออมประเภทต่างๆขึ้นมา เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ กองทุนหมู่บ้าน แต่ก็ไม่เกิดการพัฒนาสถาบันการเงิน และขาดการเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย ทาง กมธ.จึงได้ศึกษาสานต่อแนวทางจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) โดยเสนอรายงานการปฏิรูปเศรษฐกิจฐานรากและร่าง พ.ร.บ.การเงินฐานราก พ.ศ. ... เข้าสู่ที่ประชุม สปท.วันที่ 18 ม.ค.59 จนมีมติเห็นชอบแล้ว หลังจากนี้สมาชิกสามารถขอแปรญัตติและทบทวนภายใน 10 วัน ก่อนจะส่งไปยังครม.เพื่อเสนอเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ต่อไป
ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล เลขานุการ กมธ. กล่าวว่า สำหรับประโยชน์ต่อภาคประชาชนเมื่อโครงข่ายการเงินฐานรากเกิดขึ้นครบทุกตำบลประมาณ 7,000 แห่ง จะเป็นการเพิ่มการเข้าถึงแหล่งการออมให้กับประชาชนไม่น้อย 17.5 ล้านคน ประมาณตำบลละ 2,500คน นำมาซึ่งเงินออมที่เพิ่มขึ้นด้วยตนเอง อย่างน้อยประมาณปีละ 7,000 ล้านบาทภายใต้สมมติฐานการเก็บออมเพียงประมาณ 1บาทต่อคนต่อวัน ซึ่งภายใน10 ปี โครงข่ายนี้จะสามารถมีเงินเก็บออมเองไม่ต่ำกว่า 70,000 ล้านบาท และนำไปสู่การปล่อยกู้ได้ประมาณ 150,000-200,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังจะช่วยในการประหยัดของชุมชนในส่วนที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายเดินทางไปสาขาธนาคารพาณิชย์และช่วยลดภาระดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายให้กับนายทุนนอกระบบด้วย
"โครงข่ายการเงินฐานรากจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนในระดับฐานรากทั่วประเทศไทยและเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยเราจะได้เห็นกฎหมายฉบับนี้ภายในปีนี้" นายกอบศักดิ์ กล่าว