ด้านพล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า วันนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอครม.เกี่ยวกับแผนรับซื้อยางด้วยเงิน 5,479 ล้านบาท เป็นเงินที่จะใช้รับซื้อยางจากเกษตรกร 4,500 ล้านบาท เป็นค่าจ้างแปรรูป ค่าขนส่ง 739 ล้านบาทค่ารักษา 150 ล้านบาท และค่าดำเนินการตามที่จ่ายจริง 90 ล้านบาท
"สาเหตุที่ต้องมีค่าจ้างแปรรูป เนื่องจากยางที่รับซื้อจากเกษตรกร บางทีเป็นน้ำยางสด ถ้าไม่แปรสภาพเป็นน้ำยางข้นก็จะเสีย ยางแผ่นดิบก็แปรสภาพเป็นยางแผ่นรมควัน จากยางก้อนถ้วยก็อัดเป็นก้อน จึงต้องมีการจัดงบไว้รองรับการแปรรูป"
พล.ต.สรรเสริญ ยังได้ชี้แจงถึงกรณีที่มีความพยายามของกลุ่มการเมืองบางส่วนมองว่าจะเหมือนโครงการจำนำข้าวหรือไม่นั้นว่า โครงการจำนำข้าวเกิดจากการบริหารจัดการผิดพลาดจนเกิดการทุจริต และรัฐบาลก็รู้แต่ไม่แก้ไข ส่วนการแก้ปัญหายางครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากเกิดปัญหาแล้ว ราคายางตกต่ำลงเรื่อยๆ เกษตรกรเริ่มเคลื่อนไหว มีเหตุการณ์ทางการเมืองเข้าแทรกแซง และอาจจะนำมาซึ่งความขัดแย้งได้ จึงได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาตามขั้นตอนของพ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ปี 2558 ในมาตรา 8 หรือ 9
ส่วนที่ 2 ที่มีความแตกต่างกับโครงการรับจำนำข้าว คือ การบริหารจัดการการดำเนินการมีความทุจริตเกิดขึ้นแม้กระทั่งการขายแบบ G to G และโครงการรับจำนำข้าวมีการรับซื้อข้าวทุกเมล็ด แต่การแก้ปัญหายางมีความต้องการพื้นฐานจากหน่วยงานต่างๆ 1 แสนตัน แม้จะซื้อในราคาสูงกว่าตลาดแต่ว่าเป็นการซื้อเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการผลิตเลยไม่ได้ซื้อแล้วเอามาสต็อก
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงว่าเกษตรกรที่ขายยางออกไปหมดแล้ว จะเอายางกลับมาวนเวียนขายอีก ก็ได้รับการชี้แจงว่า การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้ประสานความร่วมมือกับ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าไปตรวจสอบคลังเก็บยางว่ามีการนำออกมาหมุนเวียนขายอีกหรือไม่ จึงยืนยันได้ว่ามีการกระบวนการตรวจสอบทุกขั้นตอน