พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) เสนอ ในเรื่องการดำเนินโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะแบ่งการดำเนินโครงการออกเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกในปี 2559 นี้ จะเป็นการดำเนินโครงการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงครอบคลุมทั่วประเทศ ใช้งบประมาณ 15,000 ล้านบาท ส่วนเฟสสอง ในปี 2560 เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศ ใช้งบประมาณ 5,000 ล้านบาท โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีทั้งหมดราว 7 หมื่นกว่าหมู่บ้าน ซึ่งในจำนวนนี้มีหมู่บ้านที่สามารถเข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ตแล้วเพียง 53% ซึ่งเป็นการลงทุนโครงข่ายอินเตอร์เน็ตโดยบริษัทเอกชนเป็นผู้ดำเนินการ แต่ส่วนที่เหลืออีก 47% หรือราว 3 หมื่นกว่าหมู่บ้านนั้นยังไม่สามารถเข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ตได้ เนื่องจากบริษัทเอกชนมองว่าผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตมีจำนวนน้อย ทำให้การวางโครงข่ายอาจจะไม่คุ้มค่าการลงทุน แต่ทั้งนี้รัฐบาลมองว่าในทุกพื้นที่ของประเทศไทยมีความจำเป็นที่ประชาชนจะต้องเข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ตได้ "รัฐบาลจึงจำเป็นต้องลงทุนในส่วนนี้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสให้ประชาชนทั้งประเทศสามารถเข้าถึงโลกอินเตอร์เน็ต โลกดิจิตอลในวันข้างหน้าได้" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว พร้อมระบุว่า การเข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ตในอนาคตมีความจำเป็นค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะในแง่ของสันทนาการ, การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม, ด้านการเกษตร, ด้านการแพทย์และสาธารณสุข เป็นต้น ซึ่งการที่รัฐบาลจะลงทุนในโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมนี้ จะใช้เครือข่ายของ บมจ.ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม เป็นหลักในการดำเนินโครงการ แต่จะไม่ปิดโอกาสให้เอกชนรายอื่นเข้ามาร่วมลงทุนด้วย "การดำเนินการตรงนี้ จะทำให้มีความครอบคลุมพื้นที่เพิ่มเติมในส่วนที่เหลืออีก 40% แต่คงไม่ถึงทั้ง 47% เนื่องจากในส่วนที่เหลืออีก 7% เป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างจะทุรกันดาน แต่อย่างน้อยก็ถือว่าครอบคลุมพื้นที่เกือบทั่วประเทศ คือ 93% ซึ่งน่าจะสามารถตอบรับต่อการเดินเข้าสู่โลกอนาคตของไทย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ นี่คือการดำเนินการในเฟสที่ 1 ที่จะทำในปี 59" คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการ 1 ปี" พล.ต.สรรเสริญ ระบุ ส่วนการดำเนินการในเฟสที่ 2 นั้น จะเริ่มต้นในปี 2560 เป็นการยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางของโครงข่ายอินเตอร์เน็ตในอาเซียนด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศ ซึ่งในปัจจุบันมาเลเซียและสิงคโปร์เป็น landing station ของอาเซียนในการเชื่อมต่อการสื่อสารระหว่างประเทศในซีกโลกตะวันตกกับตะวันออก แต่ในอนาคตรัฐบาลจะเข้าไปลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศ เพื่อให้ไทยได้เป็นศูนย์กลางสำหรับอาเซียน และจะทำให้ประชาชนสามารถใช้บริการอินเตอร์ในราคาที่ถูกลงกว่าปัจจุบัน "สายเคเบิ้ลใยแก้วใต้น้ำที่วางอยู่ในปัจจุบัน มันเอื้อต่อสิงคโปร์และมาเลเซียในการเป็นศูนย์กลาง ดังนั้นเราจะเชื่อมต่อระหว่างฝั่งตะวันตก กับฝั่งตะวันออก เราจะเชื่อมต่อระหว่างอเมริกาผ่านไทยไปฮ่องกง ไปไต้หวัน ไปญี่ปุ่นได้ ตรงนี้จะทำให้เราสามารถเป็นศูนย์กลางของอาเซียนได้อย่างแท้จริง ผู้ประกอบการที่ไปเปิดศูนย์ข้อมูล google facebook จากเดิมที่ใช้บริการจากสิงคโปร์ มาเลเซีย แต่ถ้าเราเป็นศูนย์กลางตรงนี้แล้ว เขาจะมาใช้บริการจากเรามากขึ้น เราจะกลายเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว