กระทรวงไอซีทีจะต้องดำเนินการขออนุมัติงบประมาณหรืองบลงทุนของรัฐวิสาหกิจตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และมติ ครม.ที่เกี่ยวข้อง โดยบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกับแผนงานภายใต้โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลที่ ครม.มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.58 และจัดทำรายละเอียดการดำเนินโครงการที่ระบุเกี่ยวกับแผนการดำเนินงานและผลสัมฤทธิ์ในแต่ละขั้นตอนพร้อมทั้งงบประมาณเสนอคณะกรรมการเตรียมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมพิจารณาในรายละเอียด และรายงานผลความก้าวหน้าในการดำเนินการให้นายกรัฐมนตรีและ ครม.ทราบทุกเดือนต่อไป
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในระยะที่ 1 จะดำเนินโครงการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศมีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพื่อตอบสนองนโยบายของ ครม.ด้านการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยให้มีการส่งเสริมภาคเศรษฐกิจดิจิทัลและวางรากฐานของเศรษฐกิจดิจิทัลให้เริ่มขับเคลื่อนได้อย่างจริงจัง ซึ่งจะทำให้ทุกภาคเศรษฐกิจก้าวหน้าไปได้ทันโลกและสามารถแข่งขันในโลกสมัยใหม่,
ทั้งนี้ เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศให้ครอบคลุมหมู่บ้าน ด้วยเทคโนโลยี FTTx และ Fixed Wireless Broadband ซึ่งสามารถขยายโครงข่ายได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ทุกหมู่บ้านสามารถใช้งานอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยความเร็วเทียบเท่า 4G, เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสให้ประชาชนในทุกหมู่บ้านมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลภาครัฐและมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ ที่จะนำความเจริญเข้าสู่หมู่บ้านอย่างทั่วถึงในด้านต่าง ๆ ทั้งการศึกษา สาธารณสุข และภาคเกษตรกร และเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งจะดำเนินการในปี 59 ในส่วนนี้จะใช้งบประมาณจำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท ดำเนินการโดบ บมจ.กสท โทรคมนาคม(CAT) และ บมจ.ทีโอที(TOT)
"ทั่วประเทศมีกว่า 7 หมื่นหมู่บ้าน แต่มีโครงข่ายอินเทอร์เน็ตเพียง 43% รัฐบาลเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม หลังดำเนินโครงการแล้วจะขยายโครงการเพิ่มอีก 40% ครอบคลุมเป็น 93% ส่วนอีก 7% ค่อนข้างทุรกันดาร" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
ส่วนระยะที่ 2 เป็นโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็น ASEAN Digital Hub มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยให้มีโครงข่ายเชื่อมต่อโดยตรงกับศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ต(Internet Hub) ของโลกที่มีเสถียรภาพและมีความจุเพียงพอรองรับความต้องการของประเทศ, ลดต้นทุนการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตต่างประเทศของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยให้สามารถแข่งขันได้กับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และทำให้ค่าบริการอินเทอร์เน็ตสำหรับประชาชนถูกลง, ส่งเสริมการเข้ามาลงทุนของ Content Provider รายใหญ่ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ต หรือศูนย์กลางดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน(ASEAN Digital Hub) ซึ่งจะดำเนินการในปี 60 ใช้งบประมาณ 5 พันล้านบาท
"เดิมเคเบิ้ลใยแก้วใต้น้ำใช้แนวเส้นทางการเดินเรือ เราจะปาดหน้าเค้ก เชื่อมต่อฝั่นตะวันตกไปฝั่งตะวันออก จากอเมริกา ผ่านประเทศไทยไปฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น จะทำให้เราเป็นศูนย์กลางอาเซียนอย่างแท้จริง"พล.ต.สรรเสริญ กล่าว