ทั้งนี้ หากก่อนลงนามมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญให้ กก.พิจารณาดำเนินการในเรื่องนั้น ๆ แทนคณะรัฐมนตรี โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง โดยมอบหมายให้นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เป็นผู้ลงนามในบันทึกความร่วมมือฯ และให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เป็นผู้จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็มให้แก่ผู้ลงนามบันทึกความร่วมมือฯ
สำหรับร่างบันทึกความร่วมมือฯ ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันอำนวยความสะดวกในการเดินทางและการเยี่ยมเยือนของนักท่องเที่ยว ประชาสัมพันธ์การพัฒนาคุณภาพการท่องเที่ยวตามความเหมาะสมประชาสัมพันธ์มาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมและการรับรองแผนงานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การสร้างความร่วมมือด้านต่าง ๆ อาทิ สนับสนุนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของธุรกิจชุมชน และภาคส่วนอื่นด้านการท่องเที่ยวในตลาดท่องเที่ยวนิทรรศการและเทศกาลท่องเที่ยว โดยเน้นย้ำถึงจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวและสินค้าของคู่ภาคี
รวมถึงการจัดทำตลาดร่วมด้านการท่องเที่ยว กิจกรรมด้านประชาสัมพันธ์ ตลอดจนสนับสนุน และส่งเสริมกิจกรรมที่ทำให้สำเร็จร่วมกัน โดยศูนย์อาเซียน – จีน ศูนย์อาเซียน – ญี่ปุ่น และศูนย์อาเซียน – เกาหลี และการสื่อสารในสภาวะวิกฤติเพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของหน่วยงานด้านการท่องเที่ยว และ/หรือสถานที่ท่องเที่ยว โดยแบ่งปันข้อมูลอย่างถูกต้องและตรงเวลาแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการแผนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวอาเซียน พ.ศ. 2559 -2568 (ASEAN Tourism Strategic Plan: ATSP 2016 - 2025) โดยมีสาระสำคัญ คือกำหนดวิสัยทัศน์: “ภายในปี พ.ศ.2568 อาเซียนจะเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวอาเซียนที่มีคุณภาพ โดยนำเสนอความหลากหลายผ่านประสบการณ์อาเซียนอันนำไปสู่การท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบและยั่งยืน มีความครอบคลุมในทุกมิติอย่างมีสมดุล เพื่อนำไปสู่การกินดีอยู่ดีและความเป็นอยู่ที่ดีทางเศรษฐกิจและสังคมประชาชนอาเซียน”
อาเซียนได้วางมาตรการที่จำเป็นและปรับปรุงจากข้อมูลที่มีอยู่เดิมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นเพื่อให้การดำเนินการบรรลุถึงวิสัยทัศน์ด้านการท่องเที่ยวอาเซียนในอีก 10 ปีข้างหน้า อาทิ การวางมาตรการทางการตลาดเพื่อให้อาเซียนเป็นจุดหมายปลายทางเดียวกัน การบูรณาการในการทำงานร่วมกันในการเชื่อมโยงหลัก ๆ ด้านการลงทุน ความปลอดภัย การรักษาและปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ ตลอดจนการพัฒนาสินค้าและการตลาดด้านการท่องเที่ยวในอนุภูมิภาค เช่น กลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Sub-Region: GMS)กลุ่มประเทศสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT)
รูปแบบการท่องเที่ยวอาเซียนจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้ ประกอบด้วย 1) เพิ่มการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นและการมีส่วนร่วมของภาครัฐและภาคเอกชนในห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยว โดยพัฒนาและนำยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวมาใช้ในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวของชุมชนท้องถิ่นและภาคเอกชน
2) ปรับปรุงและพัฒนาความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัย ตลอดจนให้ความสำคัญกับการบำรุงรักษาสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความสำคัญทางธรรมชาติและวัฒนธรรม โดยทำงานร่วมกับองค์กรที่เกี่ยวข้องในการเพิ่มจำนวนแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมในระดับโลกให้มากขึ้น รวมถึงขยายระบบอุทยานที่เป็นมรดกของอาเซียน และการสร้างสรรค์และออกแบบอุทยานที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมใหม่ ๆ ของอาเซียน
3) เพิ่มความรับผิดชอบของการท่องเที่ยวอาเซียนต่อการปกป้องสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยการเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งจัดเตรียมคู่มือเพื่อแจกจ่ายให้แก่อุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวในอาเซียนโดยตรง สำหรับใช้เป็นแนวทางในการประสานความร่วมมือระหว่างกัน ตลอดจนเป็นแนวทางในการบรรเทา ปรับตัว และแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมให้เป็นไปอย่างยืดหยุ่น