นายสมคิด ขอให้ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันอย่างเต็มที่ ใช้วิกฤติที่เกิดขึ้นเป็นโอกาสในการพัฒนาสินค้า เจาะลึกรายตลาดสินค้า ให้ความสำคัญกับการค้าชายแดน และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้ามาอยู่ในระบบการค้าแบบ E-commerce มากขึ้น เพื่อเป็นการสร้างนักรบใหม่ หรือ new exporter ให้เข้ามามีส่วนช่วยในการผลักดันการส่งออกของไทยในปีนี้ได้มากขึ้น
"ปีนี้เราจะวิ่งเต็มที่ ไม่ลดเป้า ผมไม่ concern ว่าจะได้กี่เปอร์เซ็นต์ แต่ขอให้วิ่งให้เต็มที่" รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ คาดส่งออกไทยปี 58 ติดลบ 5.5-5.8% มูลค่า 2.14-2.15 แสนล้านดอลล์
นายสมคิด กล่าวว่า ในปี 58 ที่ผ่านมา แม้การส่งออกของไทยจะติดลบประมาณ 5-6% แต่ถือว่าอยู่ในอันดับที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ มาก เนื่องจากมีข้อมูลพบว่าประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ มีการส่งออกในปีที่ผ่านมาเป็นอันดับ 4 ของโลก เป็นรองแค่จีน, ฮ่องกง และเม็กซิโก ในขณะที่หลายประเทศการส่งออกติดลบมากกว่าระดับ 10% เช่น รัสเซีย อินเดีย เป็นต้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าฐานการส่งออกของไทยยังอยู่ในระดับที่เข้มแข็ง
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่โลกที่อาจยังไม่ฟื้นตัวดีนักในปีนี้ กระทรวงพาณิชย์จะต้องมีการปรับกลยุทธ์สำหรับการส่งออกด้วยการเจาะลึกสินค้าในรายตลาดให้มากขึ้น ทั้งที่เป็นตลาดหลักๆ เช่น ตลาดสหรัฐ, จีน และญี่ปุ่น รวมทั้งตลาดในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน(CLMV หรือ กัมพูชา, ลาว, เมียนมาร์ และเวียดนาม) รวมทั้งเพิ่มจำนวนบุคลากรในสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในประเทศต่างๆ ที่มีความจำเป็น
"ต้องทำวิกฤติให้เป็นโอกาส เราต้องมองในแง่บวก ในเมื่อพรุ่งนี้เศรษฐกิจยังไม่ดี เราต้องเอาช่วงเวลานี้มาสร้างสิ่งใหม่ๆ รองรับอนาคตข้างหน้า อย่ามัวแต่กอดเข่า กลัวแต่ว่าวันหน้าจะแย่ ถ้าคิดแบบนั้น วันหน้าก็ไม่ต้องทำอะไรกัน" รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
พร้อมกันนี้ ได้เน้นเรื่องของการทำการค้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์(E-commerce) โดยต้องการให้สินค้าจากผู้ผลิตที่เป็น SMEs ได้เข้าไปมีโอกาสขยายตลาดในระดับต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งการทำการค้าผ่าน E-commerce นี้จะช่วยทำให้สินค้าของผู้ประกอบการทั้งระดับ SMEs หรือในระดับชุมชนสามารถเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากขึ้นในตลาดโลก เพราะในอนาคตการค้าระบบนี้จะเริ่มเข้ามาทดแทนการค้าในแบบปกติหรือการขายสินค้าผ่านหน้าร้านมากขึ้น แต่ทั้งนี้จะต้องอาศัยความร่วมมือจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) และกระทรวงอุตสาหกรรม ในการเชื่อมโยงสินค้าของผู้ประกอบการไทยเข้าสู่เว็บไซต์ที่เป็นตัวกลางในการจำหน่ายสินค้าซึ่งเป็นที่รู้จักและนิยมกันอย่างแพร่หลายในทั่วโลก เช่น อาลีบาบา โดยต้องการจะเห็นผลงานที่เป็นรูปเป็นร่างภายใน 3 เดือนนับจากนี้
นายสมคิด กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังต้องการให้สินค้าเกษตรของไทยโดยเฉพาะผลไม้ไทยได้ก้าวเข้าสู่เวทีโลกมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรหรือแหล่งเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรกับร้านค้าในต่างประเทศ หรือ outlet ที่จำหน่ายพืชผัก-ผลไม้โดยตรง ลดขั้นตอนในการจำหน่ายผ่านพ่อค้าคนกลาง เพื่อให้รายได้เข้าถึงเกษตรกรได้โดยตรงมากขึ้น
ด้านนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์พร้อมที่จะดำเนินตามนโยบายดังกล่าวของรัฐบาลในการเร่งผลักดันการส่งออก โดยที่ผ่านมาได้มีการวางยุทธศาสตร์และดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อเจาะตลาดเก่าและแสวงหาตลาดใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยในปีนี้กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกไว้ที่ 5%
รมว.พาณิชย์ ยังกล่าวถึงการเชื่อมโยงสินค้าเกษตรไทยสู่ตลาดโลกว่า กระทรวงพาณิชย์เตรียมจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อขอจัดสรรงบประมาณราว 700 ล้านบาท สำหรับมาใช้ในการดำเนินโครงการจัดสร้างศูนย์กระจายสินค้าเกษตร ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงสินค้าเกษตรไทยสู่สากลและยกระดับราคาสินค้าเกษตรของไทย โดยศูนย์กระจายสินค้านี้จะมีการจัดสร้างคลังเก็บสินค้าเกษตร ห้องเย็น รวมทั้งช่วยดูแลเรื่องการขนส่งสินค้า และการบรรจุหีบห่อ ซึ่งได้วางเป้าหมายการจัดสร้างศูนย์กระจายสินค้าเกษตรไว้เบื้องต้นไว้ใน 5 จังหวัด คือ เชียงราย, อุดรธานี, ราชบุรี, จันทบุรี และนครศรีธรรมราช
"เรากำลังจะเสนอของบประมาณเพิ่มเติมเพื่อเข้ามาช่วยเหลือในภาคเกษตร โดยจะสร้างศูนย์กระจายสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เราจะพัฒนาตลาดพืชผลเกษตรในระดับชุมชน ดูแลตั้งแต่การเก็บเกี่ยว รวบรวมผลผลิต เชื่อมโยงสู่ตลาดกลางผัก-ผลไม้ ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาตลาดสินค้าเกษตร เพิ่มช่องทางการจำหน่ายได้มากขึ้น" รมว.พาณิชย์ ระบุ
นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวด้วยว่า ในการประชุมทูตพาณิชย์ครั้งนี้ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ได้นำเสนอภาพรวมเศรษฐกิจโลกและแนวโน้มการค้าโลก ในขณะที่นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานภาคเอกชนในคณะทำงานด้านการส่งเสริมการส่งออกและการลงทุนในต่างประเทศ ได้นำเสนอแนวทางการผลักดันการส่งออกและการลงทุนในต่างประเทศของภาคเอกชน ซึ่งจะมีการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ภายใต้กลไกของคณะทำงานฯ และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้นำเสอนแนวทางการปฏิรูปการค้า และแผนงานของกรมฯ ในแต่ละภูมิภาคหลัก เพื่อผลักดันให้การส่งออกของไทยในปีนี้ขยายตัวได้ 5% ตามเป้าหมาย
อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าเป้าหมายที่ 5% เป็นเป้าหมายที่ท้าทายมาก เนื่องจากในปีนี้มีปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศอยู่พอสมควร ทั้งราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนและสหภาพยุโรปที่เป็นคู่ค้าหลักของไทย ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ รวมทั้งค่าเงินผันผวน
"เชื่อมั่นว่า จากแนวนโยบายของรองนายกรัฐมนตรี แผนงานของกรมฯ และภาคเอกชนที่ร่วมกันระดมสมองปรับกลยุทธ์เพื่อเร่งรัดการส่งออกในครั้งนี้ ประกอบกับปัจจัยบวก เช่น การขยายตัวของตลาดอาเซียนอย่างมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะช่วยขับเคลื่อนการส่งออกให้บรรลุเป้าหมายได้" นางมาลี กล่าว
สำหรับภารกิจของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มเติม นอกเหนือจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด ได้แก่ การส่งเสริมผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในต่างประเทศ ในส่วนของ Non-Manufacturing Sector เช่น การเปิดธุรกิจหรือเฟรสไชส์ในต่างประเทศ รวมถึงการตั้งผู้แทนจัดจำหน่ายสินค้า การสนับสนุนการส่งออกบริการใน 6 ด้านหลัก(ธุรกิจด้านสุขภาพ, บันเทิงและดิจิทัลคอนเทนท์, ธุรกิจการจัดงาน, โลจิสติกส์, ธุรกิจการศึกษา และธุรกิจบริการวิชาชีพ) การยกระดับการให้บริการข้อมูลและคำปรึกษา จากเดิมที่เป็นเพียงการให้ความรู้เกี่ยวกับสินค้าและตลาดในระดับพื้นฐานรายอุตสาหกรรมในภาพกว้างสู่การเป็นหน่วยงานอัจฉริยา ซึ่งสามารถให้ข้อมูลเป็นรายธุรกิจ โดยพัฒนาการให้บริการข้อมูลเชิงลึกแก่ผู้ประกอบการที่ครอบคลุม Value chain ด้านการส่งออกและการไปลงทุนในต่างประเทศ การส่งเสริมธุรกิจ E-commerce ผ่านเว็บไซต์ thaitrade.com นำไปสู่มูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากการค้าออนไลน์ รวมทั้งการสนับสนุนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการ SMEs ผ่านกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และโครงการ SMEs Proactive