โพลล์นักศศ. มองการเมือง-ภาษา-ระบบราชการไทยเป็นอุปสรรคความร่วมมือในอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 21, 2016 10:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ เปิดผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์เรื่อง “บทบาทของไทยในอาเซียน: การร่วมมือและความมั่งคั่ง"พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ร้อยละ 73.4 เห็นว่าปัจจุบันประเทศไทยมีบทบาทค่อนข้างมากในภูมิภาคอาเซียน โดยร้อยละ 43.8 เห็นว่าไทยมีบทบาทเพิ่มขึ้นในอาเซียนเมื่อเปรียบเทียบกับอดีต ขณะที่ร้อยละ 29.7 เห็นว่าไทยมีบทบาทน้อยลงในอาเซียน

เมื่อถามว่าปัจจุบันมีอะไรบ้างในระบบของไทยที่ขัดขวางความร่วมมือในอาเซียน นักเศรษฐศาสตร์ยังมองว่าเป็นปัญหาการเมือง ความขัดแย้งทางความคิดของคนในประเทศ(ร้อยละ 29.1) รองลงมาเป็นการสื่อสารภาษาอังกฤษของคนไทย (ร้อยละ 19.6) ถัดมาเป็นระบบราชการที่ขาดประสิทธิภาพ กฎหมายล้าหลังหรือไม่เอื้อต่อความร่วมมือ (ร้อยละ 19.4) ส่วนอุปสรรคสำคัญในการทำให้ประชาคมอาเซียนเป็นประชาคมที่สมบูรณ์แบบคือ ความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันในหมู่ประเทศสมาชิก การมองประเทศเพื่อนบ้านเป็นคู่แข่ง(ร้อยละ 32.2) รองลงมาเป็นความขาดเอกภาพของอาเซียนในเวทีโลก(ร้อยละ 22.4) และความแตกต่างทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ร่ำรวยกับประเทศที่ยากจน (ร้อยละ 20.0)

ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 19.3 เห็นว่าอาเซียนควรจะร่วมมือกันในด้านขยายโครงข่ายการคมนาคมระหว่างกันให้ครอบคลุมโดยเร็วที่สุด รองลงมาร้อยละ 19.0 เห็นว่าควรขยายปริมาณการค้าในหมู่ประเทศสมาชิก และร้อยละ 17.0 เห็นว่าควรเพิ่มบทบาทและสร้างเอกภาพของอาเซียนในเวทีโลก นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ยังเสนอแนะว่า ประเทศไทยควรเร่งขยายการลงทุนโดยเฉพาะในกลุ่ม CLMV รวมถึงเร่งขยายการค้า ขยายตลาดไปยังประเทศต่างๆ ในอาเซียน โดยใช้ประโยชน์จากที่ตั้งของประเทศไทยที่อยู่ศูนย์กลางของอาเซียน เพื่อให้เป็น Hub of ASEAN logistics ในส่วนของปัจจัยสำคัญที่นักเศรษฐศาสตร์เห็นว่าจะช่วยขับเคลื่อนอาเซียนให้เป็นประชาคมที่สมบูรณ์แบบตามจุดมุ่งหมายที่วางไว้ มีดังนี้

อันดับ 1 สร้างความเป็นเอกภาพของประเทศสมาชิก มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน มีการไว้ใจซึ่งกันและกัน รวมถึงการมีจุดยืนร่วมกันในเวทีโลก อันดับ 2 ลดความแตกต่างทางเศรษฐกิจในหมู่ประเทศสมาชิก มีการช่วยเหลือกันด้านเศรษฐกิจ อันดับ 3 สร้างโครงข่ายคมนาคมที่เชื่อมโยงกัน ใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน และมีการเดินทาง ท่องเที่ยวระหว่างกันให้มากขึ้น

กรุงเทพโพลล์ ทำการสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 30 แห่ง จำนวน 64 คน โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 7-13 มกราคมที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ