สำหรับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ณ สิ้น ธ.ค.58 มียอด NPLs คงเหลือ 23,452 ล้านบาท (คิดเป็น 27.23% ของสินเชื่อรวม) โดย NPLs ลดลงจากปี 57 ที่อยู่ที่ระดับ 31,960 ล้านบาท(คิดเป็น 37.61% ของสินเชื่อรวม) หรือลดลงเท่ากับ 8,508 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังจำเป็นแก้ไขปัญหา NPLs อย่างต่อเนื่องให้ไปตามข้อสังเกตของ คนร.ซึ่งธนาคารได้จัดตั้งฝ่ายติดตามดูแลคุณภาพลูกหนี้ (Loan Monitoring) เสร็จแล้ว โดยส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำในทุกสาขาเพื่อติดตามดูแลลูกค้าที่มีคุณภาพอ่อนแออย่างใกล้ชิด ทำให้สามารถรักษาคุณภาพลูกหนี้ไม่ให้ตกชั้นเป็น NPLs ได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ธนาคารยังได้พยายามปรับโครงสร้างลูกหนี้ NPLs ที่ยังดำเนินกิจการอยู่ควบคู่กันไปด้วย
ด้านสินเชื่อ ณ สิ้น ธ.ค.58 ธนาคารมียอดเงินให้สินเชื่อรวมคงค้าง 86,128 ล้านบาท ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ 31,394 ล้านบาท ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย 12,038 ราย เฉลี่ยการปล่อยกู้ต่อราย 2.60 ล้านบาท โดย ณ วันที่ 19 ม.ค.59 ธนาคารได้ปล่อยกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(Soft Loan) เฟส 1 และ เฟส 2 เพื่อช่วยผู้ประกอบการรายย่อย วงเงินรวม 6,818.45 ล้านบาท 2,170 ราย โดยแยกเป็นเฟส 1 ปล่อยกู้ 4,235.25 ล้านบาท 1,388 ราย เฟส 2 ปล่อยกู้ 2,583.20 ล้านบาท 782 ราย ซึ่งใน เฟส 2 นั้น วงเงินโดยรวมยังไม่เต็ม ดังนั้นธนาคารจะเร่งดำเนินการเบิกจ่ายเงินกู้ให้ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
สำหรับสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ Policy Loan ณ 19 ม.ค.59 ธนาคารสามารถปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการรายย่อยจำนวน 4,317.77 ล้านบาท 1,258 ราย และกำลังจะเร่งเบิกจ่ายช่วยผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่องเช่นกัน รวมเป็นสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 4 % ที่ธนาคารปล่อยไปทั้งสิ้น 11,136 ล้านบาท ให้แก่ผู้ประกอบการ 3,428 ราย
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ SME Bank ระบุ พันธกิจปี 59 ธนาคารยังคงเน้นภารกิจในการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย โดยตั้งเป้าการปล่อยสินเชื่อที่ 35,000 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถช่วยผู้ประกอบการรายย่อยอย่างน้อย 10,000 ราย วงเงินเฉลี่ยรายละ 3 ล้านบาท และ NPLs ตั้งเป้าลดลงเหลือประมาณ 18,000 ล้านบาท โดยยังคงเน้นใช้ระบบ Loan Monitoring เพื่อป้องกันสินเชื่อตกชั้นโดยจะต้องดำเนินการอย่างเต็มประสิทธิภาพ และจะพยายามปรับโครงสร้างหนี้ให้ได้มากที่สุด
นอกจากนี้ ในปี 59 ธนาคารจะเน้นการพัฒนาผู้ประกอบการซึ่งถือเป็นภารกิจที่สำคัญของการก่อตั้งธนาคารแห่งนี้ที่จะต้องทำให้เกิดเป็นรูปธรรม เป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาอย่างแท้จริง (SME Development Bank) โดยเน้นช่วยเหลือการให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อสร้างโอกาสการเข้าสู่แหล่งทุน ช่วยสนับสนุนด้านการตลาด การวินิจฉัยสถานประกอบการ ด้านบัญชี และด้านต่างๆ ที่เป็นข้อจำกัดของ SMEs รวมถึงเชื่อมโยงความช่วยเหลือเป็นภาพรวมครบวงจรกับหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ ให้รอบด้านตรงจุดเป้าหมายความต้องการของผู้ประกอบการ SMEs
นอกจากนี้ ภารกิจที่สำคัญอีกด้าน คือ โครงการร่วมลงทุนซึ่งเป็นปัจจัยที่จำเป็นมากในการพัฒนาผู้ประกอบการ ซึ่งเอสเอ็มอีแบงก์จะดำเนินโครงการร่วมลงทุน 2,000 ล้านบาท ตามมติ ครม.ซึ่งธนาคารจะมีการปรับโครงสร้างองค์กร และบุคลากร เพื่อให้สามารถทำพันธกิจด้านร่วมลงทุนได้เดินหน้ามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ความคืบหน้าของโครงการร่วมลงทุน ขณะนี้ธนาคารได้เริ่มเดินหน้ากองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs (SMEs Private Equity Trust Funds) กองทุนย่อยกองที่ 1 แล้ว โดยวันนี้ธนาคารได้มีการเซ็นสัญญาจะเข้าร่วมลงทุนรายแรกกับ บริษัท ฟรุตต้า เนเชอรัล จำกัด ผู้ผลิตน้ำผลไม้ออแกนิคเพื่อสุขภาพ โดยธนาคารจะร่วมลงทุนในสัดส่วน 26% ของทุนจดทะเบียนตามแผนการลงทุนในกิจการ และคาดว่าจะใส่เงินจริงเข้าร่วมลงทุนได้ประมาณสิ้นเดือนมกราคม 2559 นอกจากนี้ บริษัท เอสเอส พีพี แคปปิตอลส์ จำกัด ผู้จัดการกองทรัสต์ (Trust Manager) ซึ่งเข้ามาทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาแนะนำในกิจการนี้ ก็มีความสนใจจะนำเงินเข้ามาร่วมทุนในลำดับต่อไปด้วยเช่นกัน
กรรมการผู้จัดการ SME Bank กล่าวด้วยว่า ในวันนี้ธนาคารได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสมาคมสำนักงานบัญชีคุณภาพ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อให้เข้ามาช่วยในด้านการจัดเตรียมข้อมูลให้กับผู้สนใจเข้าร่วมลงทุนได้เป็นมาตรฐาน ช่วยแนะนำปรับปรุงงบการเงิน แผนธุรกิจของผู้ประกอบการหามูลค่าที่แท้จริงของผู้ประกอบการก่อนเข้าร่วมลงทุน และลงนามบันทึกความร่วมมือกับบริษัท เอ็มดิก โฮลดิ้ง จำกัด เพื่อเป็นผู้จัดการกองทรัสต์ (Trust Manager) อีกรายหนึ่งของธนาคาร ทั้งนี้เพื่อให้การเข้าร่วมลงทุนของธนาคารสามารถทำได้กว้างขวางและรวดเร็วขึ้น