"สมคิด"เผยรบ.จับมือเอกชนพัฒนา-ยกระดับคุณภาพวิชาชีพอาชีวศึกษา

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 21, 2016 17:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานในการลงนาม"บันทึกข้อตกลงความร่วมมือสานพลังประชารัฐยกระดับคุณภาพวิชาชีพอาชีวศึกษา (Competitive Workforce) กล่าวว่า ปัจจุบันการศึกษาด้านอาชีวะมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการระดับอุดมศึกษา ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพวิชาชีพอาชีวศึกษาให้มีความสามารถและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและมีความเข้มแข็ง ให้เป็นรากเหง้าที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศในอนาคต พร้อมทั้งต้องการให้วิชาชีพอาชีวศึกษาได้มีโอกาสเลือกในการประกอบอาชีพและก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการด้วยตนเองมีส่วนร่วมในการสร้างงานให้กับประเทศต่อไป
"ประชารัฐในวันนี้ไม่มีใครที่จะหยุดยั้งได้สิ่งที่ดำเนินการในวันนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้เพราะที่ผ่านมาต่างคนอาจจะต่างกันทำงาน แต่วันนี้ทุกคนช่วยกันซึ่งเชื่อมั่นว่าหากทุกฝ่ายมีความจริงจังก็จะประสบผลสำเร็จได้"นายสมคิด กล่าว

ทั้งนี้ การลงนามในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว เป็นคณะทำงานร่วมระหว่างรัฐ เอกชน และประชาชน ประกอบด้วย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม ขณะที่ภาคเอกชนประกอบไปด้วย 13 องค์กรชั้นนำระดับประเทศ ได้แก่ เอสซีจี (SCG), บจก.การบินกรุงเทพ,บมจ. ช.การช่าง (CK), บจก.ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี,บมจ.ซีพีออลล์ (CPALL), บมจ.ไทยเพรสซิเดนท์ฟูดส์ (TF), บมจ.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK), บจก.น้ำตาลมิตรผล,บจก.ฤทธา, บจก.สรรพสินค้าเซ็นทรัล, บมจ.ไอ ซี ซี อินเตอร์เนชั่นแนล (ICC) และบจก.ฮอนด้า ออโตโมบิล

ด้าน พล.อ.ดาวพงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ กล่าวว่า คณะทำงานมีภารกิจหลักใน 5 ด้านประกอบด้วย 1.การสร้างค่านิยมหรือแรงจูงใจให้เด็กมาเรียนอาชีวะมากขึ้น 2.ต้องผลิตผู้เรียนด้านอาชีวะในสาขาที่ขาดแคลนให้มีปริมาณเพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ 3.การสร้างคุณภาพให้กับผู้เรียนอาชีวะ ยกระดับด้านหลักสูตรการเรียนให้เท่ากับการพัฒนาของบริษัทเอกชนต่างๆ 4.การสร้างอาชีวะให้มีความเป็นเลิศในแต่ละด้าน โดยให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในสาขาที่เอกชนมีความชำนาญ และ 5.ให้อาชีวะมีความเป็นสากลและมีความร่วมมือกับต่างประเทศมากขึ้น

สำหรับบทบาทในภาครัฐจะมีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมทั้งการกำหนดนโยบายกฏระเบียบที่เกี่ยวข้องและสิทธิประโยชน์ต่างๆเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชนในการเข้ามาช่วยในการยกระดับคุณภาพวิชาชีพอาชีวศึกษาจัดทำรายละเอียดเรื่องของค่าตอบแทนสำหรับผู้จบการศึกษาด้านอาชีวะให้มีความเหมาะสมตามคุณภาพ

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ดาวพงษ์ ระบุว่า การลงนามในวันนี้ตั้งเป้าจะให้เห็นผลเป็นรูปธรรมภายใน 2 ปีและพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนต่อไป แต่รัฐบาลจะดำเนินงานให้เห็นผลตามกรอบอายุรัฐบาลคือ 1 ปีครึ่ง จากนี้ไปจะมีการหารือกับทุกภาคส่วนรวมถึงกับทางภาคเอกชนในการกำหนดปริมาณของนักศึกษาด้านอาชีวะให้ตรงกับตลาดแรงงานและความต้องการของภาคเอกชน

ขณะที่นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย(SCC)หรือกลุ่มเอสซีจี ในฐานะหัวหน้าทีมไทยภาคเอกชนด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้ถือว่าเป็นการประกาศเจตนารมณ์ของภาคเอกชนที่อาสาเข้ามาทำงานเพื่อประโยชน์ต่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งภาคเอกชนพร้อมจะให้คำแนะนำและให้การสนุนแนวทางของภาครัฐ โดยนำจุดแข็งของแต่ละองค์กรมาเป็นหลักในการดำเนินการ พร้อมทั้งช่วยยกระดับคุณภาพด้านอาชีวะให้สามารถแข่งขันในตลาดโลก และส่งผลดีที่ทำให้ภาคเอกชนจะได้แรงงานที่มีคุณภาพด้วย

แนวทางการขับเคลื่อนด้านการยกระดับวิชาชีพ แบ่งเป็น 2 ระยะคือระยะแรก (Quick Win) จะใช้เวลา 6 เดือนโดยจะมีการรีแบนดิ้งเพื่อสร้างแรงจูงใจผ่านภาพลักษณ์ที่ดีกับกลุ่มเป้าหมายทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยจะสื่อสารให้เห็นถึงโอกาสความก้าวหน้าในวิชาชีพอาชีวศึกษา รวมถึงผลตอบแทนที่ดีตามระดับทักษะและความสามารถที่จะได้รับการประเมินตามมาตรฐาน อีกทั้งต้องสร้างความภาคภูมิใจให้กับบุคลากรสายวิชาชีพอาชีวะศึกษาว่าเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ พร้อมทั้งจะมีการพิจารณาคัดเลือกสถานศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญมีรูปแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสม รวมไปถึงจะมีการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนโดยให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วม

นอกจากนี้ จะร่วมกันพัฒนาฐานข้อมูลทั้งในส่วนของอุปสงค์ของความต้องการแรงงานวิชาชีพ และอุปทานของแรงงานวิชาชีพที่เรียนจบมา เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจ โดยจะให้ความสำคัญ กับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ ส่วนในระยะกลางและระยะยาวคณะทำงานมีแผนที่จะกำหนดมาตรฐานทักษะวิชาชีพการเรียนการสอนการจ้างงานและค่าตอบแทนให้เหมาะสม และสอดคล้องกับความรู้ความสามารถและทักษะฝีมือ ส่งเสริมการยกระดับคุณภาพวิชาชีพอาชีวศึกษาให้เกิดความยั่งยืน พร้อมทั้งผลักดันให้มีหน่วยงานที่รวบรวมฐานข้อมูลของวิชาชีพอาชีวศึกษาให้เป็นรูปธรรมและจะช่วยพัฒนาหลักสูตรและครูผู้สอนโดยให้มีสถาบันพัฒนาครูระดับอาชีวศึกษา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ