ทั้งนี้แนวทางของTUS Holding จะใช้รูปแบบของการเข้าไปให้บริการและสนับสนุนผู้ประกอบการใหม่ด้านนวัตกรรม โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หรือมีผลงานวิจัยและพัฒนาที่จะนำไปสู่การพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้โดยTUS Holding จะเข้าไปร่วมลงทุน เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินกิจการได้ในระยะเริ่มต้น ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบของ TUS Holding และประสบความสำเร็จแล้วกว่า 300 ราย ในจำนวนดังกล่าวมีมากกว่าร้อยละ 20 เป็นการริเริ่มธุรกิจของนักศึกษาที่นำผลงานวิจัยของตนเองไปพัฒนาและมีผู้ประกอบการถึง 25 รายที่ประสบความสำเร็จจนสามารถเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของจีน ฮ่องกง และสหรัฐอเมริกาได้ในที่สุด
“แนวทางสร้างกลุ่มสตาร์ทอัพของจีนมีความน่าสนใจ และเป็นการส่งเสริมการลงทุนรูปแบบใหม่ให้คนรุ่นใหม่ได้เริ่มต้นธุรกิจง่ายขึ้น โดยใช้ระบบของสถาบันการศึกษาที่มีความพร้อมอยู่แล้วเข้ามาช่วย ทั้งในด้านการให้ความรู้ บุคลากรให้คำปรึกษา แม้กระทั่งการช่วยหาแหล่งสนับสนุนทางด้านเงินทุนซึ่งมหาวิทยาลัยไทยมีความสามารถดำเนินการได้ ดังนั้น บีโอไอและกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะนำมาเป็นแนวทางในการสนับสนุนและส่งเสริมกลุ่มผู้ประกอบการใหม่ต่อไป" นางหิรัญญากล่าว
สำหรับการหารือครั้งนี้ พบว่ามีผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบของ TUS Holding และเป็นกิจการที่มีความพร้อมที่จะออกไปลงทุนในต่างประเทศจำนวน 7 ราย แสดงความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเร็ว ๆ นี้ ซึ่งแม้จะเป็นกิจการที่มีขนาดเงินลงทุนไม่สูงมาก แต่เป็นกิจการที่น่าสนใจและตรงกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ อาทิ ผู้ประกอบการด้านการผลิตวัคซีนป้องกันโรคระบาด การวิจัยและพัฒนาเครื่องจักรกลทางการเกษตร การผลิตผงโลหะด้วยการใช้เทคโนโลยีนาโน และการให้บริการด้านกิจการสนับสนุนการลงทุน เป็นต้น
นางหิรัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะจากไทยยังได้มีโอกาสศึกษาเกี่ยวกับการดำเนินการจัดตั้งถนนนวัตกรรมใหม่ (Innovation Street) ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมวิทยาศาสตร์ จง กวน ชุน โดยจะเป็นเวทีให้ผู้ที่สนใจจะเริ่มธุรกิจได้มีโอกาสได้ค้นหาข้อมูลธุรกิจที่สำคัญ รวมถึงการพบปะผู้ร่วมทุน ได้โดยตรง ซึ่งปัจจุบันพบว่าประสบความสำเร็จ มีผู้ใช้บริการและจัดตั้งธุรกิจจนสำเร็จแล้วเกือบ 700 ราย และที่ผ่านมาเป็นแหล่งระดมเงินทุนรวมแล้วกว่า 1,900 ล้านหยวนอีกด้วย