น.ส.สุนันทา กล่าวว่า การจัดทำ FTA ไทย-ปากีสถาน จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทั้งสองประเทศทั้งด้านการค้าและการลงทุน เนื่องจากเป็นการขจัดอุปสรรคทางการค้าทั้งในรูปภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี เป็นการเพิ่มโอกาสการนำเข้าโดยเฉพาะสินค้าวัตถุดิบ โดยปากีสถานยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์และมีค่าเป็นจำนวนมาก การส่งออกสินค้าของไทยไปประเทศปากีสถานและประเทศใกล้เคียงในภูมิภาค เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มโอกาสในการลงทุนของทั้งสองประเทศและนักลงทุนจากต่างประเทศ
โดยที่ไทยและปากีสถานตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ โดยปากีสถานมีที่ตั้งที่สามารถเป็นแหล่งการลงทุนและกระจายสินค้าสำหรับประเทศไทยไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และเอเชียกลาง ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจ ในทางกลับกัน ประเทศไทยก็ตั้งอยู่ตรงกลางของประเทศในกลุ่มอาเซียน และสามารถเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าและแหล่งลงทุนแห่งใหม่ให้แก่ปากีสถานได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ไทยและปากีสถานยังคงมีลู่ทางขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกันอย่างมาก ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ก็มีนักลงทุนไทย ได้แก่ บริษัทสยามซีเมนต์ บริษัทไทยยูรีเทน เคมีคัลอินดัสเตรียล บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี. ปากีสถาน) ได้เข้าไปลงทุนในปากีสถานแล้ว
ในปี 2557 ปากีสถานเป็นคู่ค้าอันดับที่ 46 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียใต้รองจากอินเดีย โดยการค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 1,014.98 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 2.40 โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 734.94 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกมูลค่า 874.96 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 6.97 และนำเข้ามูลค่า 140.02 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ร้อยละ 40.86
สินค้าส่งออกของไทย ได้แก่ เส้นใยประดิษฐ์ ผ้าผืน รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าจากปากีสถาน ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องดนตรีของเล่นเครื่องกีฬาและเครื่องเล่นเกมส์ สัตว์น้ำสดแช่เย็นแช่แข็งแปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ สินแร่โลหะอื่นๆเศษโลหะและผลิตภัณฑ์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เป็นต้น