อนึ่ง เมื่อวันที่ 21 ม.ค. ECB ส่งสัญญาณว่าจะมีการทบทวนมาตรการผ่อนคลายทางการเงินในเดือนมีนาคมนี้ และมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.05% และอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB (Deposit Facility Rate) ที่ -0.3% ตามเดิม
การส่งสัญญาณของ ECB ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นทั้งยุโรปและสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นราว 1-2% รวมถึงราคาน้ำมันก็เพิ่มขึ้นกว่า 5% ในวันแรกหลังจากที่ ECB ประกาศ
อย่างไรก็ตาม การผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมของ ECB จะทำให้ค่าเงินยูโรมีทิศทางอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลอื่นรวมถึงเงินบาท โดยค่าเงินยูโรได้อ่อนค่าลงไปกว่า 3.1% นับตั้งแต่ต้นไตรมาส 4 ปี 2015 มาอยู่ที่ 1.081 ยูโรต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในปัจจุบัน และอ่อนค่าลง 4% เมื่อเทียบกับเงินบาทในช่วงเวลาเดียวกัน เช่นเดียวกับค่าเงินเยนที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากปัจจุบัน ดังนั้น ภาคธุรกิจที่พึ่งพาการส่งออกไปยังยูโรโซนและญี่ปุ่น เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า อาจได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าในรูปเงินยูโรและเยนที่สูงขึ้น
แต่ SCB EIC ยังมองว่าต้องจับตาดูทิศทางราคาน้ำมันและค่าเงินหยวนของจีน หากราคาน้ำมันยังไม่พบจุดต่ำสุด ความกังวลในตลาดการเงินโลกจะยังคงมีอยู่ นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินยูโรอาจส่งผลให้ธนาคารกลางของจีนถูกกดดันให้ต้องอ่อนค่าเงินหยวนลงอีกเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและช่วยเหลือเศรษฐกิจในประเทศ ดังนั้น จึงยังมีความเสี่ยงหากธนาคารกลางของจีนลดค่าเงินอย่างรวดเร็วกว่าที่ตลาดคาด อาจทำให้เกิดความตื่นตระหนกในตลาดการเงินโลกดังเช่นในช่วงต้นเดือนมกราคม 2016 ได้
ขณะที่ค่าเงินบาทอาจชะลอการอ่อนค่าลงได้ในระยะสั้น หากการดำเนินนโยบายการเงินของ ECB เป็นการพยุงความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดการเงินในระยะนี้ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของตลาดการเงินโลกที่ยังมีอยู่จากทั้งราคาน้ำมันและค่าเงินหยวน รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ เป็นปัจจัยกดดันให้ค่าเงินบาทยังมีทิศทางอ่อนค่า ทั้งนี้ SCB EIC ยังคงประมาณการค่าเงินบาทในช่วงสิ้นปีไว้ที่ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ