"โครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ จะสามารถช่วยกระตุ้นราคายางในตลาดให้สูงขึ้นได้และจะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย โดยกยท.ได้กำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอนและวิธีการปฎิบัติงานที่ชัดเจน รัดกุม มีการกำหนดมาตรการป้องกันการทุจริต โดยการตรวจสต๊อกยางเก่า ใช้ระบบบันทึกข้อมูลอิเลคทรอนิคส์ GPS ทุกขั้นตอน เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้"
ส่วนกรอบการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในเบื้องต้น คือการรับซื้อยางประเภทยางแผ่นดิบชั้น 3 น้ำยางดิบ และยางก้อนถ้วย ทั้งนี้กำหนดราคารับซื้อยางแผ่นดิบคุณภาพ 3 สูงสุดไม่เกิน 45 บาท/กก. น้ำยางดิบ (ปริมาณเนื้อยางแห้ง 100%) 42 บาท/กก. ยางก้อนถ้วย (ปริมาณเนื้อยางแห้ง 100%) 41 บาท/กก.
สำหรับเบื้องต้นเงินจำนวน 5,479 ล้านบาทที่จะใช้ซื้อยางนั้น งบก้อนแรกจะใช้ทุนประเดิมของ กยท. 500 ล้านบาทหลังคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความแล้วว่าสามารถใช้เงิน กยท.บริหารจัดการยางในเชิงพาณิชย์ได้ ส่วนเงินที่เหลือจะหารือสำนักงบประมาณว่าจะนำมาจากส่วนใดได้บ้างมาเป็นงบประมาณสนับสนุน
"เราสามารถใช้เงิน กยท.ได้เลย 500 ล้านบาท ซึ่งกฤษฎีกาตีความแล้วว่าตามมาตรา 9 (2) กยท.สามารถนำเงินไปดำเนินการในเชิงธุรกิจได้ ซึ่งบอร์ด กยท.ได้พิจารณาอนุมัติเงินจำนวน 500 ล้านบาทแล้ว ส่วนแหล่งเงินที่เหลือจะหารือสำนักงบประมาณรวมทั้งแผนรองรับหากกรณีเกิดการขาดทุนหรือกำไรจากโครงการนี้ด้วย โดยแผนทั้งหมดนี้จะมีการเสนอ ครม.สัปดาห์หน้าพิจารณา...นอกจากนี้ เราได้มีการคิดค่าชดเชยในกรณีบริหารจัดการผิดพลาดเผื่อไว้แล้ว"นายเชาว์ กล่าว
นายเชาว์ กล่าวต่อว่า ส่วนเกษตรกรชาวสวนยางภาคอีสานและภาคเหนือที่ตอนนี้ปิดกรีด เราจะให้สิทธิ์ในการขายยางในช่วงพ.ค.-มิ.ย.59
ด้านนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า วันที่ 25 ม.ค.ซึ่งจะเป็นวันแรกของการรับซื้อยางจากเกษตรกรรายย่อยที่ขึ้นทะเบียนกับกยท. ในราคานำตลาดจำนวน 1 แสนตัน
ทั้งนี้ กยท.กำหนดราคารับซื้อน้ำยางสด 42 บ./กก. ยางก้อนถ้วย 41บ./กก. ยางแผ่นดิบคุณภาพ3 ที่ 45บ./กก.คาดว่าจะเปิดจุดรับซื้อได้ 834 จุด แบ่งเป็นภาคใต้ 400 จุด ภาคอีสาน 100 จุด ภาคตะวันออก 30 จุดจากทั้งหมดที่คาดว่าจะเปิดจุดรับซื้อ 1,500 จุด เนื่องจากบางพื้นที่ยังไม่เปิดกรีด และจะดำเนินการรับซื้อยางเรื่อยไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.59
ส่วนการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐที่มีการใช้ยางในงานประเภทต่างๆที่เกี่ยวข้องกับยาง ซึ่งเบื้องต้นมี 8 หน่วยงาน แต่ภายหลังก็มีการขอให้มีการรวบรวมจากหน่วยงานต่างๆเพิ่มขึ้น ล่าสุดความต้องการใช้ยางในปี 59 จากหน่วยงานเหล่านี้อยู่ที่ 7-8 หมื่นตัน
ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงการซักซ้อมเพื่อไปรับซื้อยางพาราจากเกษตกร โดยจะมีการกำหนดจุดรับซื้อให้ชัดเจน จากนั้นจะมีการนำยางพาราเข้าสู่กระบวนการผลิต โดยให้แต่ละหน่วยงานที่รับซื้อยางพาราจับคู่กับบริษัทผู้ผลิตหรือเอสเอ็มอีในลักษณะหนึ่งต่อหนึ่ง และยังต้องนำไปสู่การเชื่อมโยงพัฒนาให้เกิดประโยชน์ในด้านการวิจัยที่สามารถนำมาใช้ได้จริง
ส่วนโครงการขุดสระ 1200 แห่งทั่วประเทศที่จะนำยางพาราปูพื้นรองก้นสระนั้น โครงการนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกองทัพบกกำลังพิจารณาแนวทางดำเนินการ เพราะสภาพผิวพื้นดินมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่จึงต้องพิจารณาวิธีการให้เหมาะสม และรัฐบาลกำลังพิจารณานำมาใช้อย่างอื่นด้วย