ศูนย์วิจัยกสิกรฯ จับตาเศรษฐกิจจีนสะเทือนตลาดการเงินไทยมากกว่าเฟดขึ้นดอกเบี้ย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 25, 2016 16:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จุดสนใจของตลาดการเงินของไทยในช่วง 1-3 เดือนข้างหน้านั้นนอกเหนือจากประเด็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ(FOMC) ซึ่งน่าจะมีผลกระทบเศรษฐกิจไทยค่อนข้างจำกัด และอยู่ในวิสัยที่ทางการไทยสามารถรับมือได้ แม้ว่าตลาดการเงินและตลาดทุนไทยอาจจะเผชิญกับความเสี่ยงด้านเงินทุนไหลออกบ้างก็ตาม ภายใต้สมมุติฐานที่คาดว่าเฟดไม่น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว รวมทั้ง ปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลกอาจจะส่งผลให้เฟดมีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในจำนวนที่น้อยกว่าที่เฟดเคยส่งสัญญาณในอดีต ในระหว่างนี้ผลกระทบจากการคาดการณ์เกี่ยวกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดอาจถูกลดทอนลงจากในช่วงก่อนหน้า ด้วยการที่ตลาดให้น้ำหนักความสนใจไปที่ปัจจัยอื่นๆ โดยประเด็นสำคัญ คงได้แก่ พัฒนาการเศรษฐกิจของจีน เนื่องจากประเทศจีนเป็นหนึ่งในคู่ค้าสำคัญของไทย และเป็นประเทศที่มีบทบาทอย่างมากในเอเชีย โดยหากพัฒนาการเศรษฐกิจจีนชะลอตัวเหนือการควบคุม ก็อาจจะกดดันให้ทางการจีนต้องดำเนินมาตรการดูแลเศรษฐกิจที่เข้มงวดขึ้น อันจะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินในภูมิภาค รวมถึงไทยให้เผชิญกับความผันผวนดังที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ในทางกลับกัน หากทางการจีนสามารถควบคุมการชะลอตัวของเศรษฐกิจได้ ก็น่าจะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาครวมทั้ง เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ได้

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในการประชุม FOMC รอบแรกปี 2559 ในวันที่ 26-27 มกราคม 2559 จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.25-0.50% หลังจากได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปเมื่อการประชุมเดือนธันวาคม 2558

โดยมีเหตุผลสนับสนุนหลายประการ ได้แก่ ความผันผวนในตลาดทุนโลกช่วงต้นปีซึ่งเฟดต้องประเมินผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อภาคเศรษฐกิจจริง หลังจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอในช่วงต้นปีได้ตอกย้ำถึงการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลง สวนทางกับดัชนี VIX Index(ดัชนีค่าความผันผวนของดัชนีหุ้น S&P 500) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น คาดว่าเฟดคงจะติดตามว่าประเทศต่างๆ จะสามารถควบคุมมิให้ความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาดทุนโลกกระทบต่อภาพรวมของการฟื้นตัวในภาคเศรษฐกิจจริงได้ดีเพียงใด ท่ามกลางข้อเท็จจริงที่ว่าปัจจุบันเศรษฐกิจจีนซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก มีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากจีนเป็นผู้บริโภคสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ หากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงอย่างมากกว่าที่คาดไว้จริงก็ย่อมที่จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง ซึ่งที่ผ่านมาทั้งธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศได้มีการปรับลดประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลงจาก 3.3% เป็น 2.9% และจาก 3.6% เป็น 3.4% ตามลำดับ

ขณะเดียวกันการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกส่งผลต่อมุมมองเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัจจัยที่เฟดให้ความสำคัญ นอกเหนือจากข้อมูลของตลาดแรงงาน ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 13 ปี โดยปรับลดลงกว่า 22% จากต้นปี คงจะส่งผลกระทบให้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะปรับลดลงจากที่เฟดคาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ ภายใต้สภาวะที่แรงกดดันเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับสูง น่าจะสนับสนุนให้เฟดคงระดับนโยบายการเงินที่ค่อนข้างผ่อนคลายได้ต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง แม้ว่าตลาดแรงงานจะปรับตัวดีขึ้นก็ตาม ดังจะเห็นได้จาก Fed Funds Futures ที่บ่งชี้คาดการณ์ของอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่อาจจะคงระดับอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยาวนานขึ้น โดยโอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบ มีนาคม 2559 ปรับลดลงเหลือ 29.6% ณ วันที่ 22 มกราคม 2559 เทียบกับข้อมูลช่วง 1 เดือนก่อนหน้าที่ตลาดคาดการณ์ด้วยโอกาสที่ 50.3%

ดังนั้นการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดในระยะข้างหน้ายังคงมีความไม่แน่นอนค่อนข้างมาก โดยต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้แก่ 1.การคาดการณ์เกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการเฟดและตลาดการเงินที่แตกต่างกันอาจส่งผลให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินเพิ่มขึ้นได้ ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าตลาดการเงินมองว่าเฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้ง ซึ่งน้อยกว่าที่เฟดส่งสัญญาณในตัวเลขคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการเฟด (Dot-Plot) ที่เฟดเปิดเผยเมื่อเดือน ธันวาคม 2558 ซึ่งมองถึงโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยอาจปรับขึ้นได้ถึง 4 ครั้งในปีนี้ ดังนั้นหากมีพัฒนาการที่ส่งผลให้การคาดการณ์ระหว่างตลาดการเงินกับการคาดการณ์ของเฟดแตกต่างกันมากขึ้นไปอีก ก็อาจจะส่งผลให้ตลาดการเงินเผชิญกับความผันผวนมากขึ้น โดยจุดสำคัญที่คงต้องจับตาในช่วง 1-3 เดือนข้างหน้า คงได้แก่ การเปิดเผยมุมมองเศรษฐกิจ และคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการเฟด (Dot-Plot) ที่จะมีการเปิดเผยในการประชุมเดือนมีนาคมว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงจากปัจจุบันมากน้อยเพียงใด

2.การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางขนาดใหญ่ ที่มีแนวโน้มจะดำเนินนโยบายผ่อนคลายเพิ่มเติม โดยมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น(BOJ) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจจะตัดสินใจกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมภายในช่วงไตรมาส 1/2559 นี้ ซึ่งคงจะส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯปรับตัวแข็งค่าในจังหวะที่เร่งขึ้น และอาจกระทบต่อโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯในระยะข้างหน้าให้ชะลอลงได้

3.การปรับสมดุลของเศรษฐกิจจีน ซึ่งต้องติดตามว่าทางการจีนจะสามารถดูแลการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และรักษาโมเมนตัมการขยายตัวได้ดีขนาดไหน โดยหาก ข้อมูลเศรษฐกิจจีนที่จะประกาศออกมาเพิ่มเติมยังคงอ่อนแรงกว่าคาด ก็อาจจะกดดันให้ทางการจีนพิจารณาถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้เครื่องมืออัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายในท้ายที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ