ส่วนทิศทางเงินฝากในช่วงไตรมาส 1/59 เชื่อว่า ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ยังคงใช้กลยุทธ์การบริหารต้นทุนดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำเพื่อประคองความสามารถในการทำกำไร ดังนั้น การออกแคมเปญเงินฝากพิเศษคงจะมุ่งไปที่การชดเชยแคมเปญเดิมที่ครบกำหนด เพื่อรักษาสภาพคล่องไว้กับธนาคารมากกว่าการชิงส่วนแบ่งตลาดลูกค้าใหม่
อย่างไรก็ดี สีสันที่เพิ่มเติมขึ้นจากไตรมาสก่อนๆ น่าจะอยู่ที่การออกแคมเปญเงินฝากพิเศษเพื่อต้อนรับช่วงเทศกาลสำคัญทั้งเทศกาลตรุษจีนและวาเลนไทน์ในช่วงต้นเดือน ก.พ.ซึ่งเป็นปัจจัยด้านฤดูกาลของทุกปี และคงทำให้ภาพรวมสภาพคล่องในช่วงปิดไตรมาส 1/59 มีทิศทางที่ใกล้เคียงกับระดับ ณ สิ้นปี 58
ขณะที่ข้อมูลสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่อง ของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือน ธ.ค.58 (ปรับผลของการรวมธนาคารธนาคารโตเกียวมิตซูบิชิเข้ากับธนาคารกรุงศรีอยุธยา) จากเอกสารรายการย่อแสดงสินทรัพย์และหนี้สิน (ธ.พ.1.1) พบว่า สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์เดือน ธ.ค.58 ตึงขึ้นเล็กน้อยตามความต้องการเบิกใช้สินเชื่อที่เร่งขึ้น โดยสัดส่วนเงินให้สินเชื่อรวมต่อเงินฝากรวมกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม (LTD+Borrowing Ratio) ขยับขึ้นมาที่ระดับ 90.81% จากระดับ 90.49% ณ สิ้นเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับเครื่องชี้สภาพคล่องอีกตัวหนึ่ง ได้แก่ สัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวม ซึ่งปรับลดลงมาที่ระดับ 20.10% จากระดับ 20.48% ในเดือนก่อนหน้า
สำหรับภาพรวมปี 58 เงินให้สินเชื่อสุทธิของ 14 ธนาคารพาณิชย์ไทย เพิ่มขึ้น 3.48 แสนล้านบาทจากปี 57 หรือเติบโต 3.43% YoY นำโดยกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ โดยมีสินเชื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสินเชื่อเพื่อลูกค้ารายย่อยเป็นตัวนำการเติบโต ส่วนเงินฝากนั้นธนาคารพาณิชย์ใช้กลยุทธ์บริหารต้นทุนดอกเบี้ยเพื่อประคองส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในจังหวะที่สินเชื่อเติบโตชะลอลง ทำให้เติบโตเพียง 1.61 แสนล้านบาทจากปี 57 นำโดยกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่และขนาดกลาง ขณะที่ เงินฝากในธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กปรับลดลง
ทั้งนี้ สินเชื่อที่เติบโตสูงกว่าเงินฝากในปี 58 ทำให้เครื่องชี้สภาพคล่องตึงตัวขึ้นจากปี 57 โดยสัดส่วนเงินให้สินเชื่อรวมต่อเงินฝากรวมกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม (LTD+Borrowing Ratio) เพิ่มขึ้นจากระดับ 88.68% ณ สิ้นปี 57 มาที่ระดับ 90.81% ในสิ้นปี 58 และสัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวมปรับลดลงจากระดับ 22.32% ในปีก่อนหน้า สู่ระดับที่ระดับ 20.10% ในปี 58