ที่ผ่านมาไทยได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจที่จะเข้าร่วมไว้เมื่อปี 57 ต่อมามติ ครม. เมื่อปี 58 ได้เห็นชอบในหลักการและลงนามในข้อตกลง หลังจากนั้น ครม. เห็นชอบวงเงินงบประมาณเบื้องต้น และผ่านหลักการร่าง พ.ร.บ.ที่ให้อำนาจการปฏิบัติเกี่ยวกับ AIIB
โดยไทยได้รับการจัดสรรให้ถือหุ้นจำนวน 1.4275% หรือคิดเป็นเงิน 52,818 ล้านบาท แต่เบื้องต้นจะเรียกเก็บเพียง 10,563.87 ล้านบาท แบ่งชำระ 5 งวดๆ ละ 2,112.78 ล้านบาท ซึ่งเงินงวดแรกไทยต้องชำระก่อนหรือในวันที่ไปยื่นสัตยาบันต่อ AIIB ส่วนงวดที่สองจะเป็นเดือน ธ.ค.59, งวดที่สามจะเป็นเดือน ธ.ค.60, งวดที่สี่จะเป็นเดือน ธ.ค.61 และงวดที่ห้าจะเป็นเดือน ธ.ค.62
ส่วนเงินลงทุนที่เหลือจะต้องดูว่าหลังจากจ่ายครบ 5 งวดแล้วยังมีความจำเป็นต้องระดมทุนเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ถ้ามีค่อยกำหนดเพิ่มเติม
ทั้งนี้ การร่วมโครงการดังกล่าว รมว.คลัง จะมีฐานะเป็นผู้ว่าการในสภาว่าการธนาคาร และปลัดกระทรวงการคลังจะเป็นผู้ว่าการฯ สำรอง
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีย้ำว่าเมื่อเข้าไปร่วมลงทุนแล้วต้องวางแผนให้รัดกุมว่า ประเทศไทยจะมีโอกาสในการกู้เงินจากตรงนี้มาใช้ประโยชน์ในการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานมากน้อยเพียงใด ซึ่งเงินกู้จาก AIIB ถือเป็นทางเลือกอีกทางของรัฐบาลในการทำโครงสร้างพื้นฐาน แต่จะต้องเปรียบเทียบว่าเงินกู้จากแหล่งใดมีต้นทุนต่ำที่สุด