โครงการดังกล่าวมีกลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลสนับสนุนเงินทุนให้แก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองจำนวน 79,556 กองทุน ผ่านสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ(สทบ.) กองทุนละไม่เกิน 500,000 บาท ภายใต้วงเงินรวม 35,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน เช่น ยุ้งฉางชุมชน โรงตากพืชผลทางการเกษตร โรงสีชุมชน โรงงานผลิตปุ๋ยประจำชุมชน การจัดทำแหล่งเก็บน้ำชุมชน และเครื่องจักรสำหรับแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น และ 2) เพื่อดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ ที่ชุมชนเห็นว่าเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมศักยภาพในการประกอบอาชีพและความเป็นอยู่ในชุมชนให้ดีขึ้น โดยการดำเนินการของกองทุนหมู่บ้านฯ ตามโครงการนี้ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติกำหนด
โดยกำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินการโดยเร่งด่วนให้มีการเบิกจ่ายภายในระยะเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ
ทั้งนี้ผลจากการดำเนินโครงการดังกล่าวจะส่งผลให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองมีการลงทุนจำนวน 35,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นในระดับฐานรากและชุมชน ซึ่งจะเป็นรากฐานที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจไทยต่อไป
"เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาภาคการเกษตรของประเทศไทยประสบปัญหาหลายประการ ได้แก่ ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปัญหาต้นทุนการผลิตสูง และปัญหาราคาสินค้าตกต่ำ เป็นต้น โดยสาเหตุประการหนึ่งมาจากระบบโครงสร้างพื้นฐานในชุมชนไม่ได้รับการพัฒนา ตลอดจนยังขาดปัจจัยการผลิตที่จำเป็น ดังนั้นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในระดับฐานราก ซึ่งครอบคลุมทั้งกระบวนการตั้งแต่กิจกรรมด้านการผลิต การเพิ่มมูลค่าสินค้า และการตลาด จะส่งผลให้ชุมชนพัฒนาอย่างมั่นคงแข็งแรงต่อไป" เอกสารเผยแพร่กระทรวงการคลัง ระบุ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ที่ประชุมครม. เห็นชอบโครงการพัฒนาความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐวงเงินเกือบ 4 หมื่นล้านบาท โดยจะให้หมู่บ้านละไม่เกิน 500,000 บาท รวมทั้งสิ้น 70,000 หมู่บ้าน เพื่อนำไปใช้ในโครงการที่ต้องการดำเนินการ เช่น นำไปทำลานตากมันสำปะหลัง เพื่อนำไปเสริมกับเงินกองทุนหมู่บ้านฯ ที่ลงไปก่อนหน้านี้ ซึ่งโครงการต่างๆประชาชนสามารถเสนอขึ้นมาแล้วนำงบประมาณไปใช้ได้ทันที แต่การดำเนินงานจะต้องมีความโปร่งใส