รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สาเหตุที่เกษตรกรเข้าร่วมโครงการน้อย เนื่องจากราคายางพาราในท้องถิ่นปรับตัวสูงขึ้น อยู่ที่ประมาณ 42 บาท/กก. (ยางแผ่นดิบชั้นสาม) บางพื้นที่ปิดกรีดยางแล้ว เกษตรกรมีความกังวลในเรื่องคุณภาพของยางว่าจะไม่ผ่านเกณฑ์ตามที่โครงการกำหนด แต่ก็ยังมีความต้องการยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร บางพื้นที่อากาศแปรปรวนฝนตก การรับเงินผ่าน ธ.ก.ส. ใช้ระยะเวลาประมาณ 2 วัน
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้สั่งการและย้ำให้การดำเนินงานทุกขั้นตอนเกิดความโปร่งใส ประโยชน์เกิดกับเกษตรกรอย่างเต็มที่ หากเปิดช่องที่มีโอกาสทุจริต เชื่อมั่นว่าเกษตรกรจะเสียประโยชน์จากการสวมสิทธิ ผลที่ตามมาเกษตรกรถูกเอารัดเอาเปรียบต่อไป ขอให้เชื่อมั่น หากพบเห็นทุจริตขอให้แจ้งมายังกระทรวงเกษตรฯ จะยินดีเป็นอย่างยิ่ง
โดย กยท.ได้ตั้งศูนย์ประสานงานจุดรับซื้อยางโครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ มีอำนาจหน้าที่ในการจัดเตรียมสถานที่รับซื้อ และจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติ หน้าที่รับซื้อยางให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย คือเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. เท่านั้น และ ป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการใช้ชาวสวนยางเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์
ส่วนความคืบหน้าผลการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง เจ้าของสวนยางจำนวน 42,770 ครัวเรือน จำนวนเงิน 359,072,775 บาทท คนกรีดยางจำนวน 40,856 ครัวเรือน จำนวนเงิน 226,763,100 บาท รวมทั้งสิ้นจำนวน 83,626 ครัวเรือน จำนวนเงิน 585,835,875 บาท จากข้อมูลการรับแจ้งเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯแล้วจำนวน 350,882 ครัวเรือน บันทึกข้อมูลลงในระบบแล้วจำนวน 150,882 ครัวเรือน อยู่ระหว่างตรวจสอบความถูกต้องและบันทึกข้อมูลลงในระบบจำนวน 200,000 ครัวเรือน