"กระทรวงคมนาคมได้ชี้แจงที่ประชุม ศึกษาความเป็นไปของโครงการนี้ และได้ศึกษาไปมากแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในลักษณะใด ใน 3 แนวทาง แนวทางแรกให้เอกชนลงทุนทั้งหมด แนวทางที่ 2 เอกชนลงทุนระบบเดินรถ ส่วนรัฐบาลลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แนวทางที่ 3 รัฐบาลลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและระบบเดินรถ และให้เอกชนลงทุนบริการเดินรถ ในที่ประชุมให้กระทรวงคมนาคมไปพิจารณาเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด จะกลับมาเสนอต่อที่ประชุมในคราวหน้า"รมว.คลัง กล่าว
พร้อมกันนี้ที่ประชุมฯ ได้ติดตามความคืบหน้าโครงการภายใต้มาตรการ PPP Fast Track ของกระทรวงคมนาคม ดังนี้ 1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (ช่วงแคราย-มีนบุรี) มีมูลค่าโครงการ 56,725 ล้านบาท 2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ช่วงลาดพร้าว-สำโรง) มูลค่าโครงการ 54,768 ล้านบาท ที่กระทรวงคมนาคมเห็นชอบโครงการแล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมของข้อมูล เพื่อนำเสนอคณะกรรมการ PPP ในเดือน ก.พ.59 และเสนอเข้า ครม.ในเดือน มี.ค.59 รวมทั้งอยู่ระหว่างเตรียมร่างคำสั่งและองค์ประกอบของคณะกรรมการคัดเลือก และร่างเอกสารคัดเลือกเอกชน เพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถคัดเลือกเอกชนได้ทันทีเมื่อ ครม.เห็นชอบ
3.โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ) มูลค่าโครงการ 82,600 ล้านบาท กระทรวงคมนาคมขอให้ รฟม.ทบทวนและปรับปรุงรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.58 ซึ่ง รฟม.ได้เสนอรายงานที่ปรับปรุงให้กระทรวงคมนาคมแล้ว และคาดว่ากระทรวงคมนาคมจะพิจารณาเห็นชอบในเดือน ก.พ.59 และจะนำเสนอต่อคณะกรรมการ PPP ในเดือน เม.ย.59 ก่อนที่จะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ในเดือน พ.ค.59 ต่อไป
4.โครงการทางหลวงพิเศษ (Motorway) เส้นทางบางปะอิน-นครราชสีมา มูลค่าโครงการ 84,600 ล้านบาท และ 5. โครงการทางหลวงพิเศษ เส้นทางบางใหญ่-กาญจนบุรี มูลค่าโครงการ 55,620 ล้านบาท กรมทางหลวงคาดว่าจะสามารถสรุปผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการเบื้องต้นเพื่อจัดทำการทดสอบความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) ได้ในเดือน ก.พ.59 โดยคาดว่าจะเสนอกระทรวงคมนาคมได้ในเดือน เม.ย.59 จากนั้นเสนอให้คณะกรรมการ PPP ได้พิจารณาในเดือน มิ.ย.59 และเสนอ ครม.ในเดือน ก.ค.59 ให้พิจารณาได้ตามกรอบระยะเวลา PPP Fast Track
ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลือง รวมทั้งโครงการ Motorway เส้นทางบางปะอิน-นครราชสีมา และเส้นทางบางใหญ่-กาญจนบุรี สามารถดำเนินการได้ตามกำหนดระยะเวลาของมาตรการ PPP Fast Track แต่ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมีการปรับปรุงกรอบเวลาจากแผนงานเดิม เนื่องจากกระทรวงคมนาคมให้ รฟม.ปรับปรุงข้อมูลให้มีความเหมาะสมและถูกต้องตามขั้นตอนมากขึ้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้ให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นำเสนอความพร้อมของโครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-ระยอง เพื่อกำหนดเป็นโครงการตาม PPP Fast Track โดยให้กระทรวงคมนาคมสร้างความชัดเจนของการใช้เขตทาง และรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน และนำมาเสนอต่อที่ประชุมในครั้งต่อไป
ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ได้รับทราบแผนการพัฒนาระบบรถไฟและรถไฟฟ้าของกระทรวงคมนาคม โดยแบ่งเป็นการลงทุนด้านรถไฟ เช่น แผนการพัฒนาทางคู่ทั้งประเทศ 2 ระยะ วงเงินลงทุนราว 3.29 แสนล้านบาท และทางรถไฟที่เชื่อมต่อกับต่างประเทศ เช่น รถไฟไทย-จีน และรถไฟความเร็วสูง เป็นต้น รวมทั้งการลงทุนด้านรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ในภาพรวมทั้งหมด เพื่อให้การพิจารณาโครงการ PPP มีความสอดคล้องกับแผนการลงทุนของประเทศในภาพรวม