ทั้งนี้ หลังจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมายให้ กยท.เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการโครงการฯ โดยในส่วนของงบประมาณโครงการฯ ทั้งหมด 5,479 ล้านบาทนั้น กยท.ต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติให้สำนักงบประมาณและกระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินเป็นค่าใช้จ่ายภายในโครงการฯ และในกรณีที่ได้รับเงินล่าช้าจะต้องนำเงินจาก กยท.ที่มีภาระผูกพันใช้ไปก่อน พร้อมทั้งเสนอเรื่องให้ ครม.ชดเชยเงินเมื่อการดำเนินงานภายในโครงการฯ ประสบปัญหาขาดทุน
โครงการดังกล่าวแบ่งเป็นงบรับซื้อยางแผ่นดิบคุณภาพ 3 น้ำยางสด และยางก้อนถ้วยจำนวน 100,000 ตัน ในวงเงิน 4,500 ล้านบาท ค่าจ้างแปรรูปค่าขนส่ง 739 ล้านบาท ค่าเก็บรักษา 150 ล้านบาท และค่าดำเนินการของหน่วยงานตามที่จ่ายจริงไม่เกินร้อยละสอง 90 ล้านบาท โดยเริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้ร่วมกันพิจารณาหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และขั้นตอนการปฏิบัติในการระบายสต็อกยางฯ โดยเห็นชอบให้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการสัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์ยางของโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง รวมคณะกรรมการพิจารณาให้เป็นชุดเดียวกัน ซึ่งมีนายสุรพล จารุพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการ
ส่วนความคืบหน้าการสัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์ยางกับบริษัท SINOCHEM GROUP แบบจีทูจีนั้น ที่ประชุมฯ ได้ปรับระบบให้สอดคล้องและสามารถขับเคลื่อนโครงการฯ ให้เป็นไปตามสัญญา โดยอนุมัติให้นำเงินทุนประเดิมของ กยท.ไปใช้จ่ายเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานภายในโครงการฯ ประมาณ 2,500 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือน ธ.ค.58-เม.ย.60 ซึ่งจะเริ่มส่งมอบสินค้างวดแรกในเดือน มี.ค.59