พาณิชย์ ระบุผลศึกษาไทยเข้าร่วม TPP มีทั้งข้อดี-ข้อเสีย ชงรัฐบาลเคาะปลายก.พ.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 28, 2016 15:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ศิรินารถ ใจมั่น อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า สถาบันปัญญาภิวัฒน์ และสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา ที่กรมฯ ว่าจ้างให้ศึกษาเรื่องความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ได้สรุปผลศึกษาในเบื้องต้นแล้ว โดยมีข้อเสนอให้ไทยเข้าร่วม TPP เพราะจะเกิดผลดีกับไทยมากกว่าผลกระทบ และยังจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เพิ่มขึ้นอีก 0.77% แต่ถ้าไทยและสมาชิกอาเซียนอื่น คือ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เข้าร่วมด้วย จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นเป็น 1.06%

สำหรับผลดี ได้แก่ ช่วยยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าและบริการของประเทศให้สูงขึ้น เพราะมีมาตรฐานสูงครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและแรงงาน ซึ่งจะมีความสำคัญต่อการยกระดับการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน และยังช่วยให้ภาคการผลิตที่สำคัญของไทย ทั้งยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของโลก (ห่วงโซ่อุปทาน) และจะช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ที่รัฐบาลต้องการส่งเสริมด้วย

นอกจากนี้ยังจะช่วยสร้างโอกาสในการออกไปลงทุน และแสวงหาวัตถุดิบในต่างประเทศ ช่วยให้ภาคการผลิตและภาคบริการของไทยมีการพัฒนาเพิ่มขึ้น และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวด ถือเป็นการผลักดันให้เกิดการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยสูงขึ้น

ขณะที่มีผลเสีย ได้แก่ ทำให้ตลาดสินค้าและบริการมีการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวด จะส่งผลกระทบด้านสาธารณสุข และทำให้รัฐต้องใช้งบประมาณสูงขึ้นในการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ อีกทั้งไทยต้องปรับแก้กฎระเบียบภายในมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับข้อตกลง

"กรมฯ จะนำผลศึกษาดังกล่าวไปพิจารณาร่วมกับผลการรับฟังความคิดเห็นที่กรมฯ ได้หารือร่วมกับทุกภาคส่วนไปแล้ว ทั้งภาคธุรกิจ ภาครัฐ ประชาสังคม วิชาการ และภาคเกษตร ก่อนนำเสนอให้คณะอนุกรรมการศึกษาความพร้อมของไทยต่อการเข้าร่วม TPP ที่มีนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เป็นประธานพิจารณา จากนั้นจะนำเสนอรัฐบาลพิจารณาว่าจะตัดสินใจอย่างไรปลายเดือน ก.พ.นี้" น.ส.ศิรินารถ กล่าว

โดยระหว่างนี้ กรมฯ มีแผนจะหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและประสบการณ์เกี่ยวกับการเข้าร่วมความตกลง TPP กับประเทศสมาชิก โดยจะหารือกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) และกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (เมติ) ซึ่งจะหารือกับเจโทรก่อนในวันที่ 5 ก.พ.59 เพื่อสอบถามว่า มีการทำความเข้าใจ และชี้แจงกับประชาชนอย่างไร หลังจากที่ญี่ปุ่นได้เข้าร่วม TPP เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางในการชี้แจงของไทย

นอกจากนี้ยังมีแผนหารือกับประเทศสมาชิก TPP อื่น เช่น เวียดนาม น่าจะเป็นช่วงเดือน มี.ค.59, สหรัฐฯ วันที่ 20-22 เม.ย.59 ในช่วงการประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุน ไทย-สหรัฐฯ ที่สหรัฐฯ และนิวซีแลนด์ ประมาณเดือน พ.ค.59 ที่นิวซีแลนด์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ