นอกจากนี้ การขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวในเกณฑ์สูงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ด้านการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวจากปีก่อนหน้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยได้รับอานิสงส์จากมาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภาครัฐ ประกอบกับเงินเฟ้อและราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยจะส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการปรับลดลงต่ำกว่าที่คาดการณ์ครั้งก่อน
สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 58 อยู่ที่ -0.9% ลดลงจากปีก่อนหน้าตามราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ลดลงมาก
ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 59 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเร่งขึ้น โดยได้รับอานิสงส์จากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ อาทิ โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวประชารัฐ ที่รัฐบาลสนับสนุนเงินทุนให้แก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองจำนวน 79,556 กองทุน กองทุนละไม่เกิน 500,000 บาท ภายใต้วงเงินรวม 35,000 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 59 สามารถขยายตัว 3.7% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3.2-4.2%)
นายกฤษฎา กล่าวว่า สศค.ประมาณการ GDP ของไทยในปี 59 อยู่ที่ 3.7% ปรับลงเล็กน้อยจากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือน ต.ค.58 ว่าจะอยู่ที่ระดับ 3.8% สาเหตุสำคัญมาจากแนวโน้มการส่งออกของไทยที่ล่าสุดคาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 0.1% เท่านั้น จากก่อนหน้านี้เคยคาดไว้ว่าจะขยายตัวได้ 3.2% เป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย
อย่างไรก็ดี แม้จะมีการปรับลดประมาณการส่งออกในปีนี้ลงไปค่อนข้างมาก แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นมาช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ นั่นคือการจัดสรรงบประมาณกลางปีเพิ่มเติม ตลอดจนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐ เช่น โครงการเพิ่มความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ จึงทำให้ประมาณการ GDP ของไทยรอบล่าสุดในปีนี้ไม่ได้แตกต่างไปจากของเดิมมากนักจากที่เคยประเมินไว้ที่ 3.8%
นอกจากนี้ ยังได้รับแรงส่งของการลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากโครงการลงทุนยกระดับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านการคมนาคมขนส่ง และกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนในปี 59 ที่เพิ่มขึ้น ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 58 จะอยู่ที่ 0.3% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ -0.2 ถึง 0.8%) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนตามแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในระดับต่ำตามแนวโน้มราคาพลังงานที่ส่งผลให้แรงกดดันด้านต้นทุนลดลง
“GDP ปี 59 ที่เราปรับเปลี่ยนเล็กน้อยมาอยู่ที่ 3.7% จากเดิมที่เคยคาดไว้ 3.8% เมื่อรอบที่แล้ว เป็นเพราะการส่งออกปีนี้ น่าจะเติบโตได้น้อยกว่าที่คาดไว้เดิมมาก แต่เราก็ยังมีส่วนอื่นๆ มาช่วยเสริม เช่น งบกลางปีที่จัดสรรเพิ่มเติม โครงการเศรษฐกิจประชารัฐ ซึ่งจุดนี้เลยมาทำให้ GDP ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากที่คาดการณ์ไว้เดิมมากนัก แทบจะใกล้เคียงของเดิม...ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ ความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอ่อนแอ"นายกฤษฎา กล่าว
ด้าน น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค.กล่าวถึงสมมติฐานสำคัญ 7 ด้านของการประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 59 มาจาก 1.การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก 15 ประเทศ ซึ่งการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นไปอย่างเปราะบาง โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน เนื่องจากมีความน่าเป็นห่วงในภาคการผลิต ประกอบกับมีความผันผวนของค่าเงินหยวน คาดว่าเศรษฐกิจจีนปีนี้จะเติบโต 6.6% จากเดิมคาดไว้ 6.8% ดังนั้น ทำให้ต้องมีการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจของประเทศที่เกี่ยวข้องลงด้วย คือ ฮ่องกง และไต้หวัน
2.อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าที่สำคัญมีแนวโน้มอ่อนค่าเฉลี่ยที่ระดับ 37.50 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าลงไปจากปีก่อน 9.5% จากแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะปรับขึ้นดอกเบี้ย นอกจากนั้น หากค่าเงินในภูมิภาคมีความผันผวนมากอาจจะไม่ดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนเข้ามามากนัก ซึ่งถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงด้วย
3.ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ถือเป็นสมมติฐานที่มีการปรับลดลงค่อนข้างมาก โดยคาดว่าปีนี้ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 35 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลงถึง 32.2% จากในปี 58 ที่ระดับเฉลี่ย 51.60 ดอลลาร์/บาร์เรล นอกจากนั้นในปีนี้อุปทานของน้ำมันยังมากกว่าอุปสงค์จึงส่งผลให้ปริมาณสต็อกน้ำมันเพิ่มขึ้น และเป็นปัจจัยสำคัญในการกดดันราคาน้ำมันโลกต่อไป
4.ดัชนีราคาส่งออก และดัชนีราคานำเข้า โดยเฉพาะกรณีของดัชนีราคาสินค้าส่งออก ซึ่งเมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลง สินค้าต่างๆ ที่เกี่ยวกับข้องกับน้ำมันโดยเฉพาะหมวดปิโตรเคมีจึงปรับตัวลดลง รวมทั้งสินค้าเกษตรยังมีทิศทางราคาขาลง จึงทำให้ราคาสินค้าส่งออกหดตัวอยู่ที่ 1.6% ในปีนี้
5.อัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ไว้ที่ระดับ 1.50% เพื่อช่วยสนับสนุนธุรกรรมทางเศรษฐกิจ ถึงแม้จะมีแนวโน้มว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ตาม แต่ต้องพิจารณาปัจจัยภายในประเทศของไทยเองเป็นสำคัญ เพราะหากต้องการให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดี ก็จำเป็นต้องคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำเพื่อช่วยสนับสนุนธุรกรรมทางเศรษฐกิจ
6.สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวเป็นตัวสนับสนุนสำคัญ คาดว่าปีนี้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยถึง 33 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.5% และทำรายได้เข้าประเทศที่ 1.67 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15.5%
7.รายจ่ายภาคสาธารณะ ซึ่งมองว่าเป็นปัจจัยที่จะขยายตัวต่อเนื่อง โดยมาจากเงินงบประมาณ และเงินนอกงบประมาณ เม็ดเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจ และการใช้จ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะเม็ดเงินลงทุนของภาครัฐ ซึ่งงบรายจ่ายลงทุนในปีงบประมาณนี้สูงถึง 20% จากในปีงบประมาณก่อนอยู่ที่เพียง 17% ดังนั้นจะทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้มากขึ้น