ทูตพาณิชย์ จัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจขยายลู่ทางส่งออกผลิตภัณฑ์ยางของไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 29, 2016 17:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) เตรียมนำคณะผู้ซื้อผู้นำเข้ายางพาราจากทั่วโลกเกือบ 100 บริษัทเดินทางเยือนประเทศไทย เพื่อร่วมเจรจาการค้าและจับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการและผู้ส่งออกไทยกว่า 100 ราย ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 2 มีนาคม 2559 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัล พลาซ่า ลาดพร้าว พร้อมทั้งจัดนิทรรศการและนำคณะผู้นำเข้าเยี่ยมชมโรงงานผู้ประกอบการไทย เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและประชาสัมพันธ์ ศักยภาพของผลิตภัณฑ์ยางไทย นำไปสู่การขยายลู่ทางการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางของไทยสู่ตลาดโลก
"กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศดำเนินโครงการนี้ตามนโยบายของรัฐบาลที่มอบหมายให้กระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องพิจารณาหาแนวทางช่วยกระตุ้นราคายางพาราในประเทศให้สูงขึ้น การจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางครั้งนี้ ทูตพาณิชย์ได้เฟ้นหาผู้ซื้อผู้นำเข้าตัวจริง พร้อมระบุกลุ่มสินค้าล่วงหน้า เพื่อจัดกลุ่มประเภทสินค้า และผู้ประกอบการไทยให้ตรงกับความต้องการ โดยกรมฯ ได้เชิญผู้นำเข้าจากมาเลเซีย เวียดนาม จีน อียิปต์ ฮ่องกง อังกฤษ แอฟริกาใต้ ซูดาน อินเดีย เกาหลีใต้ และซาอุดิอาระเบีย เดินทางมาเจรจาการค้า และขณะนี้มีผู้นำเข้ายางและผลิตภัณฑ์ยางรายใหญ่จากต่างประเทศตอบรับแล้ว อาทิ บริษัท เซี่ยงไฮ้คิกฮิลล์ และบริษัท เซี่ยงไฮ้ฮานคิง จากจีน บริษัท ยูนิโกลฟส์ จากอังกฤษ บริษัท ไกพงรับเบอร์ จากเวียดนาม บริษัท ลีดเดอร์เทรด จากแอฟริกาใต้ เป็นต้น" นางมาลี กล่าว

ปัจจุบันประเทศไทยมีการผลิตยางพาราธรรมชาติเฉลี่ยปีละประมาณ 4 ล้านตัน/ปี โดยในปี 2557 มีการส่งออกเป็นยางพาราธรรมชาติประมาณ 86% ของผลผลิตทั้งหมด มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 6,022 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ยางพาราอีก 14% ของผลผลิตทั้งหมด มีการแปรรูปและส่งออกเป็นผลิตภัณฑ์ยาง แต่กลับมีมูลค่าการส่งออกรวมทั้งสิ้นสูงถึงกว่า 8,006 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ดังนั้นโครงการจับคู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ยางนี้จึงเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ยางมากขึ้น นอกจากจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศแล้ว ยังจะสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้สูงขึ้นอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้จากที่รัฐบาลได้มีนโยบายการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ ซึ่งกำหนดให้มีการโค่นต้นยางปีละ 400,000 ไร่ เป็นระยะเวลา 7 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2558 เพื่อควบคุมปริมาณการผลิต ต้นยางที่ถูกโค่นเป็นจำนวนมากดังกล่าวนั้น สามารถนำมาแปรรูปเป็นไม้ยางพาราแปรรูปอบแห้งได้ถึงประมาณ 3.4 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี และจะมีของเสียที่เกิดจากกระบวนการแปรรูปอีกปีละประมาณ 11.6 ล้านตัน ซึ่งจะสามารถนำไปใช้ผลิตชีวมวลอัดแท่ง หรือ Wood Pellet ได้ถึงปีละ 3 ล้านตัน สินค้าเหล่านี้จึงเป็นอีกกลุ่มสินค้าที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะให้การสนับสนุนควบคู่ไปด้วย เพื่อกระตุ้นให้เกิดมูลค่าการส่งออกด้วยอีกทางหนึ่ง

กลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้ ประกอบด้วย ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ยางพาราธรรมชาติเป็นวัตถุดิบเท่านั้น ไม่รวมกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากยางสังเคราะห์ ได้แก่ สินค้าประเภทยางยานพาหนะ ยางตัน ถุงมือแพทย์ ถุงมือยาง ยางคอมพาวด์ หมอนและที่นอนยางพารา หลอดและท่อยาง ยางวัลคัลไนซ์ เส้นด้ายยางยืด ยางรัดของ สายพานลำเลียง ชิ้นส่วนยานยนต์ที่ทำจากยาง ไม้ยางพารา ชีวมวลอัดแท่ง และผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากไม้ยาง เช่น ของเล่นเด็ก และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ