คณะนักธุรกิจญี่ปุ่นเชื่อมั่นเสถียรภาพของไทย ขานรับนโยบายการลงทุน-หนุนร่วม TPP

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 1, 2016 17:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังหารือกับนายอะคิโอะ มิมุระ ประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุน (Japan Chamber of Commerce and Industry: JCCI) และคณะนักธุรกิจญี่ปุ่นชั้นนำกว่า 60 บริษัทว่า การประชุมวันนี้มีตัวแทนกิจการที่เป็นเจ้าของบริษัทในประเทศไทยกว่า 1,600 บริษัท มาหารือร่วมกันในการประสานความร่วมมือกันและสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุน โดยจะมีการเชื่อมโยงกับเอสเอ็มอี ซึ่งให้ทางญี่ปุ่นช่วยในการพัฒนาเทคโนโลยีและสนับสนุนให้ไทยเป็นฐานการผลิตในภูมิภาค เพราะอยากให้ไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในฐานการผลิต และใช้วัตถุดิบในประเทศไทย เพื่อช่วยให้ราคาสินค้าสูงขึ้น ส่วนสัญญาและข้อตกลงด้านการค้าต่างๆ ยังเป็นไปตามข้อตกลงเดิม แต่จะมีการพัฒนาขึ้นตามลำดับ และขอให้นักลงทุนเหล่านั้นไว้ใจรัฐบาลนี้

พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุภายหลังการประชุมว่า ญี่ปุ่นมีความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพของไทย โดยประธาน JCCI ได้แสดงความชื่มชมต่อนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล ทั้งเรื่องสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน นโยบายคลัสเตอร์และซูเปอร์คลัสเตอร์ ตลอดจน แผนการส่งเสริม SMEs จากประเทศญี่ปุ่นในประเทศไทย พร้อมย้ำว่า ไทยเป็นประเทศห่วงโซ่การผลิต (global value chain) ที่สำคัญของญี่ปุ่นในการส่งสินค้าต่อไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในขณะที่ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงความสำคัญของญี่ปุ่น ที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย พร้อมย้ำว่า ไทยกำลังมองไปข้างหน้า เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนให้กับภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชนญี่ปุ่น ในรูปแบบแบบ Thailand + 1

การหารือประกอบด้วย 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. การเข้าร่วมการเจรจาความตกลงTPP ซึ่งภาคเอกชนญี่ปุ่นสนับสนุนให้รัฐบาลไทยให้เข้าร่วม เนื่องจากเห็นว่าจะช่วยส่งเสริม supply chain และ value chain ระหว่างไทยและญี่ปุ่น ซึ่งไทยมีความสนใจและอยู่ระหว่างการศึกษาอย่างถี่ถ้วน

ประเด็นที่สอง การเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเพื่อแข่งขันในระดับสากล โดยญี่ปุ่นมีความคาดหวังให้ไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญแก่ญี่ปุ่นไปสู่ภูมิภาคและโลก และชื่นชมที่รัฐบาลไทยที่มีนโยบายลดภาษีให้แก่ภาคเอกชนที่มีสถาบันค้นคว้าและวิจัย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งปัจจุบัน บริษัท Honda มีการพัฒนาฐานการวิจัยและพัฒนา สำหรับ รถมอเตอร์ไซต์และรถยนต์สี่ล้อ มีการสร้างสนามทดสอบรถยนต์แห่งแรกในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งรวมถึงการพัฒนาบุคลากรและให้ความรู้แก่วิศวกรไทยด้วย ทั้งนี้ ภาคเอกชนญี่ปุ่นแสดงความมั่นใจว่า สิทธิประโยชน์ทางภาษีนี้ จะช่วยให้ไทยเป็นฐานด้าน R&D ที่สำคัญในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ ยังเสนอให้ไทยเป็นผู้นำในการสร้างมาตรฐานเดียวกันนี้ให้กับอาเซียน โดยการสร้างสนามทดสอบและทดลองยานยนต์ที่ได้มาตรฐานโลก ตามที่ได้มีการลงนามในศูนย์ทดสอบยานยนต์แห่งชาติ เมื่อเดือน พ.ย. 2558 และในปัจจุบัน รัฐบาลกำลังจัดตั้งศูนย์ทดสอยยางและยานยนต์ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนญี่ปุ่นมากขึ้นด้วย

ประเด็นสุดท้าย คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพสูง โดยมีการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านนระบบราง ซึ่งมีการลงนามความร่วมมือ 3 ฉบับ คือ รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ - เชียงใหม และรถไฟรางคู่แนว SouthernCorridor และความร่วมมือในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสีแดง ซึ่งมีความคืบหน้าไปด้วยดี

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้เสนอให้มีความร่วมมือด้านการวางระบบพื้นฐาน ระบบสัญญานการเดินรถและการแบ่งผลประโยชน์ระหว่างทาง และพร้อมสนับสนุนให้ญี่ปุ่นเข้ามาสร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนอะไหล่รถไฟและจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่สองประเทศในการลดต้นทุน

สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ ไทยเสนอให้ญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานอื่นๆ นอกเหนือจาก Eco car เช่น รถยนต์ไฟฟ้า และเสนอความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน ในการพัฒนาสนามแข่งรถสู่มาตรฐานโลก เพื่อส่งเสริมการลงทุนและการขยายธุรกิจสู่รถแข่ง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกันด้วย

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นได้แสดงความชื่มชมต่อความคืบหน้าการพัฒนาร่วมกันในโครงการทวาย และแสดงความสนใจเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานของรัฐบาลไทย ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ