สำหรับกรอบระยะเวลาของยุทธศาสตร์ยางพารานั้น มีกำหนดระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ. 2560-2569) โดยจะพิจารณาจัดทำข้อมูลให้ครบถ้วน ถูกต้อง รวมทั้งแนวทางการพัฒนายางพาราทั้งระบบให้ครบทุกมิติ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทั้งด้านการผลิต การตลาด ตลอดจนแนวทางการแก้ปัญหาในระยะเร่งด่วน ระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว
อย่างไรก็ตาม การจัดทำยุทธศาสตร์ยางพาราในครั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะมีการนำงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการใช้นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อการแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ การเพิ่มมูลค่า แนวโน้มความต้องการของตลาด พืชทดแทนยางพารา ตลอดจนแนวทางการพัฒนาการใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้น โดยจะศึกษาแบบอย่างจากประเทศมาเลเซีย และข้อมูลผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพาราเข้ามาด้วย
เลขาธิการ สศก. กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ สศก. กำลังเร่งยกร่างคณะทำงานจัดทำยุทธศาสตร์ยางพารา ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 10 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งคณะทำงานจัดทำยุทธศาสตร์ยางพารา จะมีองค์ประกอบของคณะทำงานจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร พร้อมนี้ สศก. จะได้มีการทบทวนข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่เพาะปลูก พื้นที่กรีด ผลผลิต ผลผลิตต่อไร่ ให้เป็นปัจจุบัน
ทั้งนี้ คาดว่าจะนำเสนอร่างยุทธศาสตร์ยางพารา ที่ได้จากการประชุมเชิงปฏิบัติการในการประชุมคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ยางพาราในเดือนพฤษภาคมนี้ ก่อนนำเสนอร่างยุทธศาสตร์ที่ได้ปรับปรุงแล้วในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ เพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไปภายในเดือนกรกฎาคม และนำเสนอ ครม. โดยเมื่อเสร็จสิ้นแล้วจะแจ้งให้ กระทรวง ทบวง กรม การยางแห่งประเทศไทย และหน่วยงานภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รับทราบยุทธศาสตร์ยางพารา เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป