ทั้งนี้ ศาลเห็นว่า น.ส.รสนา ไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายที่มีสิทธิฟ้อง โดยให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
"เมื่อพิจารณาคำฟ้องแล้วจะเห็นได้ว่า ผู้ฟ้องคดีมีความประสงค์ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.35/2550 โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าร่วมกันแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นหุ้นหรือสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชน รวมถึงผลประโยชน์ของหุ้นหรือสิทธิมหาชนดังกล่าวที่ควรได้รับต่อเนื่องมานับจากแปรสภาพจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยไปเป็นผุ้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ให้กลับคืนมาเป็นของรัฐ อันมีลักษณะเป็นการร้องขอให้มีการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามมาตรา 72 วรรคห้าแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ประกอบมาตรา 271 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งไม่จำต้องนำคดีมาฟ้องศาลปกครองเป็นคดีใหม่
ศาลยังเห็นว่าผู้ฟ้องชอบที่จะดำเนินการขอบังคับคดีต่อศาลปกครองสูงสุดในคดีดังกล่าวโดยตรง กรณีจึงถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีไม่ใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ที่จะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลตามมาตรา 42 วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ศาลจึงไม่อาจรับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณาได้ จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ" คำสั่งศาลปกครองกลาง ระบุ
คดีนี้ น.ส.รสนา ได้ยื่นฟ้อง คณะรัฐมนตรี, นายกรัฐมนตรี, กระทรวงพลังงาน, รมว.พลังงาน และ บมจ.ปตท. ในคดีละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร